จับตาแบงก์ “ยกการ์ดสูง” พลิกตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม Q2

แบงก์พาณิชย์-ตั้งสำรอง

จับตาแบงก์พาณิชย์ “ยกการ์ดสูง” พลิกตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม ไตรมาส 2 สะดุดพิษ “โควิดระลอก 3” หลังไตรมาสแรกกำไรฟื้น

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยได้ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2564 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดการระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 เมื่อปลายปี 2563 และก่อนจะเกิดการระบาดระลอก 3 ในต้นเดือน เม.ย. 2564

โดยธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทหารไทย (TMB รวมธนาคารธนชาต), ธนาคารทิสโก้ (Tisco),

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) มีกำไรสุทธิรวมกัน 46,429 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 46,667 ล้านบาท ถือว่าทำได้ใกล้เคียง เพราะลดลงไปเพียง 0.51%

เมื่อพิจารณารายแบงก์ พบว่า กสิกรไทยมีกำไรมากสุดที่ 10,627 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 44.09% เลยทีเดียว แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้วกำไรจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า2,631 ล้านบาท หรือ 19.85% ก็ตาม

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย อธิบายว่า การที่ไตรมาส 1/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลัก ๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1,923 ล้านบาท หรือ 19.30%

เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินตามภาวะตลาด และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 950 ล้านบาท หรือ 5.44% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30%

“ขัตติยา” บอกอีกว่า ธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,650 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,222 ล้านบาท หรือ 27.14%โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ของโควิด-19

ขณะที่ไทยพาณิชย์ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 ที่ 10,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.05% และเพิ่มขึ้นถึง 103.2% จากไตรมาสก่อน ถือว่าออกมาดีเกินคาด

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในไตรมาสดังกล่าว ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 9.3% จากปีก่อน แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 14,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น21.2% จากปีก่อน

ซึ่งเป็นผลของการขยายฐานรายได้ของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 7.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

และการลดลงของต้นทุนในการให้บริการจากการใช้ช่องทางดิจิทัลที่มากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 1 ปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัดเป็น 40% เมื่อเปรียบเทียบกับ 44% ในปีก่อน

“ในไตรมาส 1 ของปี 2564 ธนาคารได้ตั้งเงินสำรอง 10,008 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในปีก่อน อย่างไรก็ตาม การตั้งเงินสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าสภาวะปกติ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน”

ด้านแบงก์กรุงเทพ มีกำไรสุทธิ 6,923 ล้านบาท ลดลง 9.75% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กรุงศรี มีกำไรสุทธิ 6,505 ล้านบาท ลดลง 7.51% ส่วนกรุงไทย มีกำไรสุทธิ 5,578 ล้านบาทลดลง 13.75%

ส่วนภาพรวมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบ พบว่า ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3.32% หรือ 541,236 ล้านบาท จากไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ 3.26% หรือ 528,516 ล้านบาท ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง 10.71% จากไตรมาสก่อน

“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ในไตรมาสแรก แบงก์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 47.4% จากไตรมาสก่อน มาจากปัจจัยทางด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลงใน 2 ส่วนสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่จะเป็นปัจจัยชั่วคราวตามฤดูกาลที่จะลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี

และอีกส่วนมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง เนื่องจากได้ตั้งสำรองค่อนข้างสูงไปก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับการตัดสินใจตั้งสำรองเกิดขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 น่าจะทำให้ในไตรมาส 2 สถานการณ์พลิกกลับ ทำให้แบงก์ทำงานได้ยากขึ้น และจะมีผลต่อผลประกอบการในไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปีนี้

เนื่องจากโควิดจะกระทบทำให้เศรษฐกิจสะดุดและชะลอตัว ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า จึงเป็นปัจจัยที่แบงก์จะกลับมาทบทวนการตั้งสำรองมากขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอน รวมถึงดูแลคุณภาพสินเชื่อปล่อยใหม่อย่างระมัดระวัง ตลอดจนการสร้างรายได้อาจจะลำบากยิ่งขึ้น

“ตัวเลขไตรมาสแรกออกมาสวย เพราะการลดค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ แต่หลังจากมีโควิดระลอก 3 ผลประกอบการแบงก์จะทำกำไรได้ยากขึ้น และแบงก์จะต้องกลับมาประเมินการตั้งสำรองเพิ่ม หากมองว่าในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การจัดการปัญหาหนี้เชิงรุกผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะลากยาว ซึ่งเริ่มสะท้อนจากจำนวนลูกหนี้ที่ขอความช่วยเหลือขยับสูงขึ้นในเดือน ก.พ. ภายใต้แรงกดดันรายได้ค่าธรรมเนียมที่ทำได้ยากขึ้น”

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยมองว่าความสามารถและประสิทธิผลของมาตรการสกัดความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และความคืบหน้าของการเร่งฉีดวัคซีนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่เพียงมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่จะมีนัยต่อเนื่องต่อสถานการณ์ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์และบริษัทย่อย โดยเฉพาะใน 3 เรื่องหลัก

ได้แก่ 1) ประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ 2) อัตราเติบโตของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ และ 3) กลไก/มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องเร่งปรับให้ตรงจุดเหมาะสม

โดยหากสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 ยืดเยื้อและกินเวลาหลายเดือนจะทำให้เปิดประเทศได้ช้าลง และอาจทำให้สถาบันการเงินต้องกลับมาแก้ไขปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น

แม้จะมีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ที่ช่วยทำให้แบงก์มีเวลาทยอยจัดการปัญหา แต่ในมุมของสถาบันการเงิน ก็คงจะกลับมายกการ์ดสูงสำหรับแนวทางการตั้งสำรอง ขณะที่กลไกการปล่อยสินเชื่อใหม่ก็อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน


เรียกได้ว่า สถานการณ์ที่ทำท่าจะคลี่คลายในไตรมาสแรก แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 อีก ทุกแบงก์จึงต้องกลับมาเผชิญความยากลำบากในการดำเนินงานกันต่อไป