วงจรอุบาทว์เศรษฐกิจไทย แห่ปรับลดจีดีพี รัฐบาลฝันค้างชวดโต 4%

เศรษฐกิจไทย ติดลบ
แฟ้มภาพ

เศรษฐกิจไทยดูเหมือนกำลังตกอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” จากการระบาดของโควิด-19 “ระลอกใหม่” ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ล่าสุด “ระลอกสาม” ที่ทำท่าจะลุกลามรวดเร็ว

และรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ ทำเอาเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวจากการระบาดระลอกก่อน จนรัฐบาลวาดฝันสวยหรูว่าปีนี้การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) อาจจะโตได้ถึง 4% ก็มีอันต้องฝันสลายลงไป ซึ่งหลายสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจก็พาเหรดปรับลดประมาณการกันใหม่อีกรอบ

เริ่มจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ที่ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในปี 2564 ลง จากเดิมคาดว่าจะโตได้ 2.6% ต่อปี เหลือ 1.8%

โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ “มีความรุนแรงกว่า” ระลอกก่อนหน้านี้ แม้ว่ารัฐจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด (ล็อกดาวน์) แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน

ขณะที่ตัวแปรสำคัญ คือ “การเร่งฉีดวัคซีน” ซึ่งหากยังมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อ หรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก

และทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป

เนื่องจากภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน

โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการภาครัฐ เพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มเติม

โดยหากรัฐบาลพิจารณาแล้ว เห็นสมควรมีการกู้เงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากวงเงินที่มีอยู่เพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจ ก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่า 1.8% ได้ อย่างไรก็ดี กรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะ “ไม่เติบโต” จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ “สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า อาจขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6% โดยมองว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 2% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการป้องกันโควิดจะส่งผล

1.ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว 2.มีมาตรการชดเชยผู้ขาดรายได้ เช่น เพิ่มเงินโอน และต่ออายุมาตรการที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.นี้ 3.มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางระบบสาธารณะ

และ 4.ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการเพิ่มเติมในการลดภาระดอกเบี้ย เช่น ลดค่าธรรมเนียม FIDF หรือลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 พ.ค. พร้อมเร่งอัดฉีดเงินกู้ให้ธุรกิจ

อีกทั้งอาจเห็นการต่อมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งทางธนาคารน่าดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าให้รวดเร็วขึ้น

ต่อมา “สำนักวิจัยกรุงศรี” ก็ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ลงเหลือขยายตัว 2.2% จากเดิมคาดจะโตได้ที่ 2.5%

โดยประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ จะส่งผลต่อจีดีพีปีนี้ลดลงไป 1.6% ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะทำให้การเติบโตของจีดีพีลดลงไปอีก 0.15%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีเกินคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีไทยได้ 0.3%

รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดในช่วงต้นปีที่มีเม็ดเงินมากกว่าที่ประมาณการไว้ และคาดว่าทางการยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าเพื่อรองรับผลกระทบของการระบาดในรอบใหม่

ล่าสุดอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ผลเชิงบวกของมาตรการเหล่านี้รวมแล้วคาดว่าจะสามารถเพิ่มการเติบโตของจีดีพีได้ 1.2%

นอกจากนี้ “สำนักวิจัยกรุงศรี” ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มล่าช้าและชะลอลงจากคาดการณ์เดิม โดยการระบาดรอบใหม่ที่แพร่กระจายเร็วไปทั่วประเทศ

อาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) โดยคาดว่าจะหดตัวที่ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่คาดไว้จะหดตัว 0.8% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีในไตรมาส 2 จะขยายตัวที่ 6.5% ลดลงจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 8.2%

ส่วน “ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS” ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เหลือโต 1.5-3% จากเดิมอยู่ที่ 2.5% หลังโควิด-19 ระลอก 3 ระบาด โดยคาดว่าจะกินเวลา 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ

นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 81.6 ล้านคน สร้างความเสียหายเม็ดเงิน 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งหากควบคุมไม่ได้ใน 3 เดือน จะกระทบอุปสงค์ในประเทศลดลงถึง 1.85 แสนล้านบาท

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า โควิดระลอกสามที่เข้ามา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ถึง 3% อย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะกระทบการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา โดยนักท่องเที่ยวคงไม่ถึง 3 ล้านคน อย่างที่ตั้งสมมุติฐานไว้เดิม

รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงไปถึงเศรษฐกิจในปี 2565 ที่คาดการณ์ไว้ว่า จีดีพีจะโต 4.7% ภายใต้สมมติฐานที่นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 20 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องยาก

“มาตรการที่สำคัญที่สุดและของจริงของวิกฤตครั้งนี้ คือ การฉีดวัคซีน ส่วนมาตรการอย่างอื่น คือ ซื้อเวลา ต้องบอกว่าวัคซีนคือพระเอก ตัวอื่นเป็นตัวรองหมด รวมถึงนโยบายการเงิน การคลัง เพราะถ้ายังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ทุกอย่างก็จะวนลูปอยู่ในวงจรอุบาทว์กับการระบาดอีกรอบ เยียวยาอีกรอบ”

ด้านภาคธุรกิจ อย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโต 1.5-3% จากเดิมคาดที่จะโตสูงสุดที่ 3.5% โดยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน

โดยจะกระทบการท่องเที่ยวและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทำได้ยาก หรืออาจต้องเลื่อนออกไป และกระทบกำลังซื้ออย่างมาก เนื่องจากแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน

ทั้งนี้ กกร.เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีเหลือกว่า 2 แสนล้านบาท เข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานออกไปอีก