เงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาน่าพอใจ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาท กลับมาอ่อนค่าหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาน่าพอใจ รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่น่าเป็นห่วง ก่อนที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/4) ระดับ31.20/22 บาท/ดอลลาร์สรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงอย่างรุนแรง จากการที่นักลงทุนยังเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในคำสัญญาของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ว่า เฟดจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกนาน

โดยนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะดำเนินไปเพียงชั่วคราว

จากถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00% -0.25% ต่อไป ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 1 เดือนที่ 1.528% ในวันพฤหัสบดี (15/4) และฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.573% ในวันศุกร์ (16/4)

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์เริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 547,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 603,000 ราย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐยังรายงานว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 3.67 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2563

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวในแนวอ่อนค่าทั้งสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบสามของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งมีการแพร่กระจายออกไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดวันนี้ (23/4) น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1,470 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,070 ราย มาจากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,902 ราย และจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 160 ราย จากผู้ที่เดินทางเข้าจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 8 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 341 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ถือเป็นสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 เมื่อแยกยอดผู้ติดเชื้อรายจังหวัด สูงที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อถึง 740 คน รองลงมาคือเชียงใหม่ 238 คน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.0% จากเดิมได้กรอบไว้ที่ 1.5-3.5%

โดย กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประมาณการนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีขนาดกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจ โดยหากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าว เศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0%

ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.15-31.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (23/4) ที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/4) ที่ระดับ 1.1954/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 1.1974/76 ดอลลาร์สหัฐ/ยูโร

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างสัปดาห์ของยูโรค่อนข้างสดใส โดยสถาบันเดสตาติกส์ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีที่ระดับ 0.9% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.6% รวมถึงไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-บริการเบื้องต้นของฝรั่งเศส อยู่ที่ 51.7 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.0 ในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและวงเงินในการซื้อพันธบัตรในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 22 เมษายน ขณะที่ ECB ยังคงจับตาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Energency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือน มี.ค. 2565 ขณะที่ ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงินเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร

อย่างไรก็ดี สมาชิก ECB จำนวนมากยังได้ส่งสัญญาณว่าจะสามารถผ่อนคลายการซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หากการระบาดของโควิด 19 ในยุโรปชะลอตัวลง รวมถึงการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ ทำให้ระหว่างสัปดาห์ มีแรงซื้อยูโรกลับขึ้นมา

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1940-1.2070 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/4) ที่ระดับ 1.2060/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/4) ที่ระดับ 108.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 108.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ภายหลังความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและรัสเซีย ได้ก่อตัวขึ้น

หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดี และขับเจ้าหน้าที่ทูต 10 คน เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ, โจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่ และพฤติการณ์ปรปักษ์อื่น ๆ ด้านนาโตหนุนหลังสหรัฐเต็มที่ ในขณะที่รัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการประกาศขับไล่นักการทูตอเมริกัน 10 คน

นอกจากนี้เงินเยนยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนที่จะปรับเพิ่มภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุน (capital gains tax) สูงถึง 43.4% สำหรับชาวอเมริกันที่ร่ำรวย ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงแล้วมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.82-108.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/4) ที่ระดับ 107.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ