PPP เห็นชอบให้โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนมดำเนินการตาม พ.ร.บ. PPP และรับทราบการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A ของการรถไฟฯ ช่วยเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลัก (Non Core) พร้อมทั้งเร่งรัดเดินหน้าโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track 8 โครงการ ให้เป็นไปตามกำหนด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรรมการ
และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP)
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ณ กระทรวงการคลัง
โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1.คณะกรรมการ PPP มีมติเห็นชอบให้โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน
จังหวัดนครพนม ที่กรมการขนส่งทางบกเสนอ มูลค่าโครงการประมาณ 1,218 ล้านบาท ให้ดำเนินการ
ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน
2. คณะกรรมการ PPP มีมติรับทราบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A
(ขนาดพื้นที่ประมาณ 32 ไร่) บริเวณสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีมูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 11,573.56 ล้านบาท ตามที่ รฟท. เสนอ โดยให้เอกชนลงทุนทั้งหมดในรูปแบบสร้าง – บริหาร – โอน (Build – Operate – Transfer: BOT) เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามหลักการของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development (TOD)) เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ โดยมีระยะเวลาดำเนินธุรกิจ 30 ปี และระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ทั้งนี้ โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่บริเวณศูนย์พหลโยธินกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และย่านธุรกิจแห่งใหม่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้แก่ประชาชน แล้วยังช่วยเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลัก (Non Core) ของ รฟท.
3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของกระทรวงคมนาคม
จำนวน 8 โครงการ ดังนี้
3.1 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2561
3.2 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ในส่วนของที่พักริมทาง และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
สายนครปฐม – ชะอำ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP และสามารถประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ในปี 2561
3.3 โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ตฯ – ห้าแยกฉลอง และโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ในช่วงปลายปี 2561
3.4 โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยอง จะมีการสร้างความชัดเจนในการกำหนดเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ภายใต้โครงการใน EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย EEC
ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ ทั้งนี้ มอบหมายให้ สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการประสานกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติมโครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมาในมาตรการ PPP Fast Track ต่อไป และขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่วางไว้