AAV ผ่าทางตันแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ดัน “ไทยแอร์เอเชีย” ระดมทุนตลาดหุ้น ก.พ.’65

แอร์เอเชียออกโปร 3599
แฟ้มภาพ

AAV ปรับโครงสร้างกิจการสู้ศึกโควิด ดึงนักลงทุนใหม่ให้สินเชื่อ 3,150 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง พร้อมส่งบริษัทลูก “ไทยแอร์เอเชีย” ออกหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแทน AAV ออกหุ้นใหม่ไม่เกิน 135.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 10.0% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย คาดใช้เวลาหารือ ก.ล.ต.ราว 6 เดือน

วันที่ 27 เม.ย.2564 นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการและทุนของบริษัท และบริษัทย่อย (บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด) เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการติดต่อนักลงทุน เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัททั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

อย่างไรก็ดี การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเงินนั้น บริษัทต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการเพื่อทำให้กิจการมีความน่าสนใจต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

“ไทยแอร์เอเชีย” ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ รองรับเข้าตลาดหุ้น

การให้สินเชื่อโดยนักลงทุนใหม่ (ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ และไทยแอร์เอเชีย) จะให้สินเชื่อแก่ ไทยแอร์เอเชีย สูงสุดไม่เกิน 3,150 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้การให้สินเชื่อจะอยู่ในรูปของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยไม่มีส่วนลด (Zero Coupon issued at 100% Nominal Value) แล้วแต่กรณี

โดยนักลงทุนสามารถใช้สิทธิแปลงสภาพสัญญาเงินกู้ หรือหุ้นกู้ เป็นหุ้นสามัญของไทยแอร์เอเชียได้ภายในระยะเวลา และตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งในเบื้องต้นสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ แล้วแต่กรณี

คาดว่าจะมีระยะเวลาประมาณ 3 ปี นับจากวันได้รับเงินกู้ ระยะเวลาแปลงสภาพ คาดว่าจะเป็นภายหลังจากที่ไทยแอร์เอเชียได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และราคาแปลงสภาพคาดว่าจะมีมูลค่าเงินต้นประมาณ 3,150 ล้านบาท สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของไทยแอร์เอเชียได้ที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท)

“เมื่อเงื่อนไขการแปลงสภาพเกิดขึ้นสถานะของนักลงทุนใหม่จะเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นของไทยแอร์เอเชีย อย่างไรก็ดีหากเงื่อนไขการแปลงสภาพไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยเหตุอันใดนักลงทุนใหม่ก็จะถือสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพต่อไปในฐานะเจ้าหนี้ และรับคืนเงินไถ่ถอนสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งประกอบด้วยเงินต้นบวกดอกเบี้ยสะสมประมาณ 3% ต่อปี นับแต่วันได้รับเงินต้น ณ วันครบกำาหนดสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ แล้วแต่กรณี”

ทั้งนี้ นักลงทุนใหม่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบกิจการของไทยแอร์เอเชีย (Due Diligence) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือน พ.ค.64 และนักลงทุนใหม่และไทยแอร์เอเชียก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดของข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ และสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการนำ “ไทยแอร์เอเชีย” เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นแทนที่ AAV เนื่องจากการหารือกับนักลงทุนในหลายๆ โอกาส บริษัทเห็นว่านักลงทุนประสงค์จะลงทุนในไทยแอร์เอเชียมากกว่าการลงทุนผ่านการถือหุ้นใน AAV เนื่องจากไทยแอร์เอเชียเป็นบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจ (Operating Company) และได้รับใบอนุญาตต่างๆ ในการให้บริการสายการบินโดยตรง

นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลจากไทยแอร์เอเชียโดยตรงโดยไม่ต้องมีการจ่ายเงินปันผลผ่าน AAV ซึ่งเป็น Holding Company รวมทั้งไม่ต้องผ่านขั้นตอนในการบันทึกบัญชีของบริษัทและเงินปันผลดังกล่าวก็จะไม่ถูกลดทอนลงด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ

คาดหารือ ก.ล.ต.  ใช้เวลาอีก 6 เดือน

ในเบื้องต้นขั้นตอนและระยะเวลาการขออนุญาต IPO หุ้นของไทยแอร์เอเชีย และการนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

1.เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการในครั้งนี้ไทยแอร์เอเชียจะรีบดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างกิจการ และจัดเตรียมเอกสารการขออนุญาต แบบแสดงรายการข้อมูลหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นไทยแอร์เอเชียต่อประชาชนเป็นครั้งแรกต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป

โดยขั้นตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 เดือน จนถึงวันที่คาดว่าจะได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยขึ้นอยู่กับการตรวจสอบสถานะกิจการ (Due Diligence) ของที่ปรึกษาทางการเงิน และผลการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ไทยแอร์เอเชีย” ออกหุ้นใหม่รวม 480.92 ล้านหุ้น

โดยการจัดสรรหุ้นใหม่ทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย และการคืนทรัพย์สินของบริษัทฯ(หุ้นในไทยแอร์เอเชียให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท) ในช่วงเวลา IPO หรือใกล้เคียงกับช่วงเวลา IPO คาดว่าจะเป็นดังนี้

  • หุ้นซึ่งบริษัทถืออยู่ในไทยแอร์เอเชียมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (ซึ่งเป็นขั้นตอนของการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการของบริษัทฯ จำนวน 479,111,060 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 55% ของทุนชำระแล้วในปัจจุบันของไทยแอร์เอเชีย ในอัตราการ คืน หุ้นเท่ากับ 1 หุ้นของบริษัท ต่อ 0.098785 หุ้นของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นขั้นตอนของการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการของบริษัท
  • การออกหุ้นใหม่ของไทยแอร์เอเชียให้แก่นักลงทุนใหม่ตามสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขการแปลงสภาพ เมื่อเงื่อนไขการแปลงสภาพเกิดขึ้น บริษัทฯ จะจัดสรรหุ้นจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 154,468,555 หุ้น คิดเป็น 11.4% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย (หลังเพิ่มทุน) ให้แก่นักลงทุนใหม่ (หุ้นที่ออกใหม่ทั้งหมดจำนวน 480,918,287หุ้น)
  • -การแปลงหนี้สินของเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยแอร์เอเชียเป็นทุน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของ 1.การจัดสรรหุ้นให้แก่เจ้าหนี้รายใหญ่ตามสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขการแปลงสภาพ และ/หรือ

2.การออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายใหญ่ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. บริษัทมหาชน จ ากัด พ.ศ. 2535 จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 191,246,782 หุ้น (คิดเป็น 14.1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย (หลังเพิ่มทุน) ที่ราคาแปลงหนี้สิน 20.3925 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับราคาของการทำาธุรกรรมอื่นในแผนการปรับโครงสร้างกิจกาจในครั้งนี้

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รูปแบบการแปลงหนี้สินของเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยแอร์เอเชียเป็นทุนยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ และอาจต้องหารือกับสำนักงาน กลต. เพิ่มเติม รวมทั้งอาจต้องขอผ่อนผันหลักเกณฑ์การอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไทยแอร์เอเชียสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

เสนอขายหุ้นไอพีโอไม่เกิน 135.20 ล้านหุ้น

ส่วนการเสนอขายและจัดสรรหุ้นที่ออกใหม่ของไทยแอร์เอเชียต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 135,202,950 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (คิดเป็น 10.0% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย (หลังเพิ่มทุน) ที่ราคาหุ้นออกใหม่ 20.3925 บาทต่อหุ้น

ภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.หุ้นจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 68,354,472 หุ้น (คิดเป็น 5.1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย (หลังเพิ่มทุน) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ (Pre-Emption Offering) ตามสัดส่วนการถือหุ้น และเป็นผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ตามที่คณะกรรมการของบริษัทฯ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัทฯ จะเป็นผู้กำหนดต่อไป

2.หุ้นจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 25,166,487หุ้น (คิดเป็น 1.9% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย (หลังเพิ่มทุน) ให้แก่บริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด

3.หุ้นจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 41,681,991หุ้น และหุ้นในส่วนที่เหลือจากการจัดสรร (หากมี) จะเสนอขายและจัดสรรให้แก่บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์

“ไทยแอร์เอเชีย” จ่อไอพีโอภายในเดือน ก.พ.65

ทั้งนี้ขั้นตอนการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างกิจการในเบื้องต้นสรุปได้ดังนี้ 1.การประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทและไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย.64 2.แปลงสภาพไทยแอร์เอเชียจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด 3.ออกหุ้นหู้แปลงสภาพให้แก่นัลงทุน

โดยบริษัทคาดว่าการดำเนินการตามแผนข้างต้นจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.64 และคาดว่าการเตรียมการเพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของไทยแอร์เอเชีย จะใช้เวลาประมาณ 7.5 เดือน หรือภายในเดือน ก.พ.65 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินต่างๆ รวมทั้งบริษัทฯ โดยตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการวางแผนเพื่อดำนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการลดเวลาการทำงานของพนักงาน หรือการปรับโครงสร้างจำนวนพนักงานให้เหมาะสม
รวมถึงการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่การดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทำให้บริษัทฯ หลุดพ้นจากผลกระทบของโควิด-19 เนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารนั้นลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2563

และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปี 2562 ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน กลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและหนักกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา ประกอบกับการที่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริษัทฯ เองก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากภาครัฐแต่อย่างใด”

อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม