การเปลี่ยนแปลง 4 ประการ ที่ SMEs ต้องปรับตัวก้าวผ่าน

ออนไลน์
คอลัมน์ SMART SMEs
TMB Analytics

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในประเทศ ยังสะเทือนไปถึงภาคธุรกิจอย่างไม่ทันตั้งตัว

การระบาดในครั้งนี้จึงเพิ่มความตึงเครียดให้กับภาคธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจใช้เวลาฟื้นตัวนานมากขึ้น เพราะการระบาดมีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา

จากมติล่าสุดของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อ 29 เม.ย.2564 ที่ประกาศยกระดับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใหม่ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปรับระดับการกำหนดพื้นที่และมาตรการการบังคับใช้ใหม่ คือ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่พื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทุมธานี 2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 45 จังหวัด และ 3.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 26 จังหวัด

โดยมีมาตรการควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ จากการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับการรวมกลุ่มสังสรรค์ที่สถานบันเทิง ทำให้เกิดความกังวลของผู้บริโภค และมาตรการป้องกันควบคุมการติดต่อที่นำกลับมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ แนวทางการกักตัวและการทำงานที่บ้าน

และเหล่านี้อาจส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในวงกว้าง ทำให้การบริโภคลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการ การท่องเที่ยวและภาคการค้าที่มีผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมาก

การระบาดรอบ 2 ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 และรอบล่าสุดที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปี 2564 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์จากวิกฤตครั้งก่อน ย่อมจะเป็นภูมิต้านทานให้สามารถปรับตัวและผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics จึงได้สรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 4 ประการที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดให้กับ SMEs เพื่อปรับตัวให้ก้าวข้ามผ่านช่วงวิกฤตนี้ได้ ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบัน พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ หรือสั่งของผ่านบริการดีลิเวอรี่

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ TMB Analytics ระหว่างช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีก่อน (เดือน มี.ค.-พ.ค. 63) พบว่ายอดการซื้อของออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ภายในบ้านมียอดการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 1,269-4,807%

นอกจากสินค้าในครัวเรือนแล้ว การขนส่งออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการดีลิเวอรี่ หรือขนส่งผู้โดยสารที่มีการตัดบัตรเครดิต/เดบิต ออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการใช้จ่ายเติบโตขึ้น 88-171%

ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายในทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยังคงเติบโตในอัตราสูงแม้ผ่านช่วงคลายล็อกดาวน์ไป ดังนั้นการปรับตัวให้เข้ากับการซื้อขายในยุคปัจจุบัน หรือการเข้าสู่โลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ

2.การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร จากการที่โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการบริโภคที่ยังคงแตกต่างกับกลุ่มอายุอื่น ๆ โดยจะมองหาสินค้าและบริการที่คำนึงถึงประเด็นเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ หรือหากจะมีการท่องเที่ยวก็จะมีพฤติกรรมระมัดระวัง และเดินทางเป็นกลุ่มส่วนตัวมากขึ้น

แม้ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะยังใช้ช่องทางออนไลน์ในอัตราที่น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น แต่การตอบรับกับเทคโนโลยีเริ่มมีอัตราที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมธนาคารผ่านมือถือ การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มจากหน้าร้านโดยตรง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจ SMEs ควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

3.การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เคยขายได้ดีหรือวิธีคิดเดิมที่เคยใช้ได้ดีอาจไม่ตอบโจทย์กับยุคอนาคตเสมอไป

ดังนั้นการใช้ data analytics การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ของธุรกิจ การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าหลังการขาย รวมไปถึงการออกแบบสินค้าและบริการที่ดีขึ้น จะช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้

4.การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบภาครัฐ จากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อช่วยประชาชนให้ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น SMEs จึงควรที่จะติดตามและทำความเข้าใจถึงรายละเอียดกฎเกณฑ์และมาตรการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนธุรกิจของภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ของมาตรการรัฐ หรือนำมาประเมินวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อขยายผลในการทำตลาดหรือเจาะกลุ่มลูกค้าได้ดีมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ท้าทายสำหรับ SMEs ทุกท่าน อย่างไรก็ดี จากบทเรียนและประสบการณ์ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ย่อมจะทำให้ SMEs มีภูมิต้านทานที่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น

การปรับตัวจึงไม่ใช่เป็นแค่ “ทางเลือก” แต่เป็น “ทางรอด” ดังนั้นหากธุรกิจปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง 4 ประเด็นที่กล่าวไว้ข้างต้น จะสามารถช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้อย่างแน่นอน