ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟด คาดยังคงดอกเบี้ยและเดินหน้าทำ QE ต่อ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 31.44/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (26/4) ที่ระดับ 31.41/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 27-28 เมษายน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเอาไว้ที่ระดับใกล้ 0% และเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

อย่างไรก็ดีสำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต โดยส่วนใหญ่คาดว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม หลังจากลดลง 0.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องส่งผลดีต่อภาคการผลิตรวม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.35-31.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.37/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (26/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2079/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (26/4) ที่ระดับ 1.2106/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) แถลงวานนี้ว่า ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า

เนื่องจากทางบริษัทได้ละเมิดสัญญาในการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 และยังระบุเพิ่มว่า แอสตร้าเซนเนก้านั้นไม่มีแผนการที่น่าเชื่อถือในการส่งมอบวัคซีนอย่างตรงเวลา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.2056-1.2084 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2066/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (26/4) เปิดตลาดที่ระดับ 108.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (26/4) ที่ระดับ 107.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมวันนี้ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงิน

ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% โดย BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นสู่ระดับ 4% จากระดับ 3.9% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ลงสู่ระดับ 0.1% จากระดับ 0.5% และยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในช่วงที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.11-108.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเมษายนจาก CB (27/4), ตัวเลขสต๊อกน้ำนรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/4), มติอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED (29/4), ประมาณการจีดีพีไตรมาส 1/2021 ของสหรัฐ (29/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (29/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านเดือนมีนาคม (29/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2021 ขอเยอรมนี (30/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.70/+0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +4.40/+5.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ