“ไทยพาณิชย์” ชี้โควิดรอบใหม่ ฉุดตลาดหุ้นไทย Q2-Q3 ไม่สดใส

หุ้นไทย-set

บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ กระทบตลาดหุ้นไทย 2 ไตรมาส ฉุดภาพรวม Q2-Q3 ของปี 2564 ไม่สดใสอีกรอบ หลังช่วง Q1 SET Index ฟื้นตัวแรงปรับตัวขึ้นไปที่ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สำเร็จแล้ว มองดัชนีปีนี้อยู่ที่ 1,550 จุด แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ซื้อสะสมในจังหวะที่ตลาดแกว่งตัวลง ให้เพิ่มน้ำหนักหุ้นเชิงรับมากขึ้น

วันที่ 28 เมษายน 2564 นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของการลงทุนในปี 2564 ในประเด็นความเสี่ยงนั้นมีความแตกต่างจากปี 2563 มองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกำลังลดลง แต่ความเสี่ยงด้านตลาดการเงิน (market risk) กำลังเพิ่มขึ้น

โดยประเมินว่า ความเสี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของปี 2564 จะไม่สูงเท่ากับปี 2563 แม้การระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว มาตรการ Lockdown ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี และวัคซีนก็เป็นความหวังที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศ

ทั้งนี้ SCBS เคยคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ใกล้ระดับ 3% ในปี 2564 แต่จากการระบาดของ COVID-19 ใน 2 รอบล่าสุด ทำให้การคาดการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงถูกปรับลดลง แต่ยังคงเชื่อว่าการบริโภคในประเทศและการส่งออกในปี 2564 ยังคงสามารถเติบโตได้ดีจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงล่าช้ากว่าคาด

สำหรับสาเหตุที่ SCBS ประเมินว่า ความเสี่ยงด้านตลาดการเงินจะสูงขึ้น เนื่องจาก 1) การที่สภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูงจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นเร็วมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแม้เกิดวิกฤต COVID-19 2) ความคาดหวังของนักลงทุนต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและวัคซีนอยู่ในระดับที่สูงสะท้อนไปที่ valuation ของตลาดหุ้นในปัจจุบัน

ดังนั้น หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังลดระดับลง ในขณะที่ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/64 เป็นต้นไป ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดมีโอกาสส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ สถานการณ์ของ COVID-19 หลังจากมีการฉีดวัคซีนแล้วว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ขนาดไหน เพราะจะมีผลต่อการเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นตัวอย่างจากบางประเทศเร็วๆนี้ เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ

ผลกระทบจากการระบาดในช่วง 2 รอบล่าสุดของ COVID-19 ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่จะกระทบกับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหาร การขนส่งทางบก (รถไฟฟ้า) การท่องเที่ยว และ ร้านค้าปลีก ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้รับผลกระทบรองมา เช่น การแพทย์ ที่อยู่อาศัย การเงิน เป็นต้น

โดยผลกระทบเกิดจาก 1) ประชาชนปรับตัวโดยลดกิจกรรมและอยู่บ้านมากขึ้น 2) มาตรการคุมเข้มของรัฐบาล ทั้งนี้ มาตรการใน 2 รอบที่ผ่านมา คือ รอบ ธ.ค. 63 – มี.ค. 64 และรอบล่าสุดในเดือน เม.ย. 64 ถือว่าส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมน้อยกว่ามาตรการในรอบที่ 1 ในช่วง มี.ค.- เม.ย. 63 ในขณะที่ผลกระทบของการระบาดรอบล่าสุดมีโอกาสรุนแรงกว่ารอบ ธ.ค. 63 – มี.ค. 64

ส่งผลให้ SCBS ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1-2 ปี 2564 ของกลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจ ดังนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในครึ่งแรกปี 64 ยังคงมีผลขาดทุน, ธุรกิจการขนส่งทางบก (รถไฟฟ้า) จำนวนผู้โดยสารคาดว่าจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 1/64 และต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 64 เทียบกับไตรมาสที่ 4/63 แต่ดีกว่าไตรมาสที่ 2/63, ธุรกิจร้านอาหารในไตรมาสที่ 1-2 ปี 64 ไม่แตกต่างมาก

โดยยังคงมีกำไรจากการปรับตัวและควบคุมต้นทุน, ธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสที่ 1-2 ปี 64 ใกล้เคียงกัน คือ รายได้หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าครึ่งแรกปี 2563, ทางด้านธุรกิจการแพทย์ที่เน้นผู้ป่วยในประเทศได้รับผลกระทบไม่มาก คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/64 สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ถือว่าผลกระทบไม่มาก ดังนั้น จึงแนะนำนักลงทุนติดตามประกาศผลการดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ส่วนตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากช่วงความคาดหวัง (Hope) ซึ่งสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคานั้นมาจากการขยายตัวของ Valuation และ กำลังเข้าสู่ช่วงการเติบโต (Growth) ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจะไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปจะมีความสัมพันธ์มากขึ้นกับแนวโน้มกำไรและปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท โดยล่าสุด ประเมินว่า EPS ของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 46% และ 21% ในปี 2564 และ 65 ตามลำดับ

มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเป็นการแกว่งตัวมากขึ้นหลังจากระดับ SET Index ฟื้นตัวมาใกล้กับช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 รวมถึงใกล้เคียงกับระดับ 1550 ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าจากปัจจัยพื้นฐาน ในขณะที่ภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานยังไม่ต่อเนื่อง เพราะการระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ

ดังนั้น การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2-3/64 จึงแนะนำให้หันมาเน้นหุ้นที่ปลอดภัยและมีลักษณะเชิงรับที่มีการเติบโต รวมถึงลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีศักยภาพการเติบโตสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ส่วนไตรมาสที่ 4/64 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้นหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว นักลงทุนค่อยปรับพอร์ตมาเน้นหุ้นที่สามารถเติบโตได้จากความสามารถในการแข่งขันหลัง COVID-19 รวมถึง หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศหากราคาไม่สูงเกินไป

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2/64 ถือว่าเป็นช่วงเข้าสู่ Low season ของตลาดหุ้น โดย SCBS คาดว่าจะเกิด Sell in May ซึ่งเป็นการประเมินจากสถิติของตลาดหุ้นไทยว่าเมื่อผลตอบแทนในช่วงเดือน พ.ย.ถึง เม.ย. เป็นบวก ในอดีตจะเผชิญกับการ Sell in May แต่ในการย่อตัวมองว่าเป็นจังหวะในการซื้อเพื่อให้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หุ้นแนะนำประจำไตรมาสที่ 2/64 ได้แก่ BDMS MINT BEM TWPC DOD

• BDMS ปี 64 คาดกำไรฟื้นตัว 17%YoY โดย 2Q64 จะเป็นไตรมาสแรกที่กำไรกลับมาโต YoY จากฐานต่ำ ส่วนระยะสั้นราคาหุ้นคาดได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และมีโอกาสที่รัฐอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้เร็วขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นจัดเป็น Laggard Play กลุ่มโรงพยาบาล

• BEM แม้ระยะสั้น (เม.ย. 64) โควิด-19 ระลอก 3 จะกดดันให้ปริมาณผู้ใช้ MRT และทางด่วนมีโอกาสแย่กว่าระลอก 2 แต่คาดไม่หนักเท่าระลอก 1 เพราะไม่มีล็อกดาวน์ โดยมองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และปี 64 ผลดำเนินงานจะยังฟื้นตัว YoY จากผลกระทบที่น้อยกว่าปีก่อน

• MINT ระยะสั้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลับมาระบาดในไทยและธุรกิจในยุโรปชะลอตัวจากการล็อกดาวน์ แต่ระยะกลางมองว่าธุรกิจในยุโรปและไทยจะทยอยฟื้นตัวได้หลังประชาชนมีการเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น หนุนให้ปี 64 ผลการดำเนินงานประสบภาวะขาดทุนที่น้อยลงและจะพลิกกำไรได้ในปี 65

• TWPC ปี 64 คาดพลิกมีกำไรจากดีมานด์แป้งมันที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดจีน ไต้หวัน อีกทั้งราคาขายยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น สูงสุดรอบ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณดีและคาดหนุนมาร์จิ้นให้ปรับตัวดีขึ้นมาก

• DOD ได้ประโยชน์จากกระแสกัญชงเพราะมีแผนดำเนินธุรกิจชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (ยกเว้นปลูก) โดยปัจจุบันได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ JKN, CHAYO, KISS, BEAUTY เพื่อรับจ้าง R&D ผลิตสินค้าเสริมอาหารและสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของ กัญชง ซึ่งคาดเริ่มออกสินค้าได้เร็วสุด 4Q64