หุ้น 12 กลุ่มอ่วมพิษโควิดระลอก 3 ฉุดดัชนี SET เม.ย. ชี้ 4 กลุ่มปรับลงแรง

ตลาดหุ้นร่วง

“เอเซีย พลัส” เปิดโผหุ้นไทย 12 กลุ่มร่วงหนักโดนหางเลขโควิดระลอก 3 กด SET index ฮวบ -2.7% เผยกลุ่ม “ท่องเที่ยว-มีเดีย-ขนส่ง-รับเหมา” ปรับตัวลงแรงสุด หลังนักลงทุน “สถาบันในประเทศ-ต่างชาติ” แห่ขายร่วม 2 หมื่นล้านบาท

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระบาดเป็นระลอก 3

โดยตั้งแต่หลังสงกรานต์เป็นต้นมาตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วจนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นและมีการประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 31 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นบรรยากาศเชิงลบต่อตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดระบาดระลอก 3 จนถึง ณ วันที่ 23 เม.ย. 2564 SET index ปรับตัวลงไปแล้ว -2.7% และจนถึง ณ วันที่ 26 เม.ย. 2564 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ -2.4%

“ถ้าพิจารณาเป็นรายเซ็กเตอร์จะพบว่า กลุ่มที่ underperform (ต่ำกว่า) ตลาด และแนะนำหลีกเลี่ยงช่วงสั้นจะเป็น 4 เซ็กเตอร์หลักที่ปรับตัวลงแรงสุดในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ได้แก่

1.หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวที่ -9.3% 2.หุ้นกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ -8.5% 3.หุ้นกลุ่มขนส่ง -7.5% และ 4.หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -6.1% ซึ่งทั้ง 4 เซ็กเตอร์เคยได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 2/2563 จนผลประกอบการพลิกมาเป็นขาดทุน และในระยะสั้นยังอยู่ในภาวะที่ผันผวนอยู่”

ขณะที่ถัดมาจะเป็นกลุ่มหุ้นที่ค่อนข้างจะ outperform (ดีกว่า) ตลาด ได้แก่ 1.กลุ่มเหล็กเพิ่มขึ้น 20.6% 2.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 6.3% 3.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 4% และ 4.กลุ่มเกษตร 0.1%

ซึ่งหุ้นทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเหล็กฟื้นตัวจากทิศทางราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้นในช่วงนี้

ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้างฟื้นตัวค่อนข้างดี หลัก ๆ ได้แรงหนุนจากความคาดหวังกำไรของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเด่นในปีนี้โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ผลกระทบโควิดต่อกำไรค่อนข้างจำกัด ส่วนกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการระบาดอย่างกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.9% และกลุ่มสื่อสาร 1.4%

“ดังนั้น ในยามที่ตลาดผันผวนจากความกังวลการระบาดของโควิด-19 แนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น และเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นที่น่าจะ outperform ได้ดี”

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงวันที่ 5-23 เม.ย. 2564 พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศเทขายมากที่สุดอยู่ที่ 13,700 หมื่นล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,353 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 2,044 ล้านบาทขณะที่นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 22,114 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบการระบาดของโควิดระลอก 3 ต่อประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้จะค่อนข้างจำกัด เพราะโครงสร้างกำไร บจ.อ้างอิง 4 เซ็กเตอร์ที่ถูกกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน

ทั้งหุ้นมีเดีย ขนส่งทางอากาศ ยานยนต์ และท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 4% ของกำไรตลาดโดยรวมเท่านั้น ในขณะที่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปีนี้อยู่ในระดับสูง เช่น หุ้นพลังงาน, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง ซึ่ง 3 เซ็กเตอร์นี้คิดเป็นสัดส่วนกำไร 37% ของกำไรสุทธิรวม และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนกำไรราว 20% ของกำไรสุทธิรวม

และจากการรายงานงบฯไตรมาส 1/2564 ไม่มีดาวน์ไซด์เพิ่มเติม ดังนั้น ยังไม่ได้ทำให้ประมาณการกำไร บจ.ปรับลดลง

“หุ้นพลังงาน, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีน้ำหนักต่อตลาดมากกว่าและกลับมีอัพไซด์กำไรเพิ่ม โดยเชื่อว่าหลังรายงานงบฯไตรมาส 1 มีโอกาสจะเห็นการปรับประมาณการกำไรสูงขึ้น ปัจจุบันประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 70.2 บาทต่อหุ้น โดย consensus (ความเห็นส่วนใหญ่) มองทิศทางปรับประมาณการกำไร บจ.ขึ้น EPS ที่ ราว 80 บาทต่อหุ้น

ส่วนประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวน ซึ่งมีโอกาสปรับลดลง ทั้งนี้ กำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐว่าคิดเป็นเม็ดเงินเท่าไร เพื่อนำมาประเมินผลกระทบได้ เบื้องต้นที่ประมาณการไว้ที่ 2.6% อาจจะมีดาวน์ไซด์ลงมาเหลือราว 2% บวกลบ” นายชาญชัยกล่าว