เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด นายพาวเวล ว่าที่ประธานเฟดคนใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม -พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ที่ (30/10) ที่ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัว แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (27/10) ที่ 33.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ของสหรับ ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 3.0% สูงกว่าตัวเลขคาดการณืของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในสินค้าคงคลัง และการขาดดุลการค้าที่ลดลง ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเขตชิคาโกปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนตุลาคม ที่ระดับ 66.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 60.0 หลังจากแตะ 65.2 ในเดือนกันยายน ซึ่งดัชนี PMI ภาคการผลิตที่สูงกว่าระดับ 50 นั้นยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.1% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.8% และสูงกว่าระดับ 5.9% ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันกำลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยแผนการปฏิรูปดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงแตะระดับร้อยละ 20 ได้ในปี 2565 ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ พร้อมกับระบุว่า เศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ขณะที่พายุเฮอร์ริเคนไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (2/11) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้มาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยลเลน ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 ซึ่งปัจจุบันนายเจอโรม พาวเวล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟด โดยรายงานระบุว่าหากนายเจอโรม พาวเวล มีแนวคิดสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางของนางเจเน็ต เยลเลน ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.09-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาด (3/11) ที่ระดับ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์

โดยปัจจัยภายในประเทศนั้น ในวันพุธ (1/11) กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 101.38 ขยายตัว 0.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.1% จากเดือนกันยายน ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือน ขยายตัว 0.62% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ในกรอบ 0.4-1.0%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (30/10) ที่ระดับ 1.1607/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 1.1766/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดการเงินยังคงจับตาสถานการณ์การเมืองในสเปนอย่างใกล้ชิด หลังจากรัฐสภาแคว้นกาตาตุญญาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากแคว้นกาตาลุญญา หลังจากที่ได้ประกาศเอกราชจากสเปนรายงานคืบหน้าล่าสุดระบุว่า ประชาชนชาวสเปนนับแสนได้ออกมาเดินขบวนในเมืองบาร์เซโลน เมืองเอกของแคว้นกาตาลุญญา เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวของสเปน หลังรัฐสภาแคว้นกาตาลุญญามีมติประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดในเดือนตุลาคม ตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยความเชื่อมั่นในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 114.0 ในเดือนตุลาคม จาก 113.1 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 113.4 ทั้งนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจเพิ่มระยะเวลามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2561 และได้มีการปรับลดการซื้อคืนพันธบัตรลงที่ระดับ 30 ล้านล้านยูโรต่อเดือน โดยมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าทาง อีซีบีจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2562 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1592-1.1687 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1655/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (บีโออี) มีมติเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 หรือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท

สำหรับค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (30/10) ที่ระดับ 11.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ 114.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนสิงหาคม โดยยอดค้าปลีกเดือนกันยายนของญี่ปุ่นทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นผลมาจากค่าแรงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) (31/10) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินไว้ที่ร้อยละ -0.1 โดยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน 8 ต่อ 1 ให้ตรังอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าว และแม้ว่าบีโอเจจะมีการปรับลดการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันลงเล็กน้อย บีโอเจยังคงเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ได้ในที่สุด โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 112.95-114.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 114.04/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ