โควิดระลอก 3 กระทบความเชื่อมั่นเงินบาท

คอลัมน์ นั่งคุยกับห้องค้า
พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย
ธนาคารกสิกรไทย

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากเป็นที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย โดยเงินบาทอ่อนค่าลง 1.3% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเผชิญกับการระบาดรอบใหม่เช่นเดียวกับไทย แต่เงินสกุลเอเชียส่วนใหญ่กลับมาแข็งค่าขึ้นสอดรับกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เราประเมินปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าเงินสกุลในภูมิภาคส่วนใหญ่ไว้ ดังนี้

ประการแรก คือ การระบาดในรอบนี้รุนแรงกว่ารอบก่อน ๆ อย่างมาก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในครั้งนี้สูงกว่า 25,000 คน ในเวลาเพียง 16 วัน ต่างจากการระบาด 2 ครั้งแรกรวมกัน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 31,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี การระบาดที่รุนแรงและขยายเป็นวงกว้างนี้ ทำให้นักลงทุนติดตามท่าทีของรัฐบาลและการออกมาตรการควบคุมต่าง ๆ อาทิ การปิดเมืองและกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน

ความไม่แน่นอนนี้กระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อเงินบาท

ประการที่สอง การบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แม้รัฐไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนลดการเดินทาง อีกทั้งยังกังวลต่อความมั่นคงของรายได้และการจ้างงานมากขึ้น กระทบต่อปริมาณการใช้จ่าย

อีกด้านหนึ่ง การระบาดของไวรัสยังเสี่ยงลดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เลื่อนเวลาการเปิดประเทศก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่ถึง 1 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6%

ประการที่สาม โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปยังกระทบต่อความเชื่อมั่นด้วย ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก คิดเป็น 14% ของจีดีพี ในปี 2019 (รูปที่ 1) และมากกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยถึงเกือบ 3 เท่า ต่างจากประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่พึ่งพารายได้จากในประเทศมากกว่า

นอกจากนี้ แรงงานไทยยังอยู่ในภาคส่วนนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 21.4% ของกำลังแรงงาน เป็นรองเพียงฟิลิปปินส์ โครงสร้างเศรษฐกิจนี้เองทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเปราะบางกว่าประเทศอื่น ๆ มาก

ประการสุดท้าย ธปท.มีแนวโน้มเริ่มวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น ๆ การศึกษาของเราพบว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางในประเทศลดลง และยังส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงในช่วง 1-2 เดือถัดไปด้วย (รูปที่ 2) นั่นจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำมากที่ -0.08% YOY ในเดือนมีนาคม มีแนวโน้มลดลงและห่างจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลงไปอีก

นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงยังทำให้ไทยใช้เวลานานกว่า 2 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะก่อนวิกฤต ทำให้เราประเมินว่า ธปท.ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปยาวนาน ก่อนจะเริ่มวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย จึงยังไม่มีแรงสนับสนุนเงินบาทแข็งค่าจากนโยบายการเงินในประเทศในเวลานี้

ดังนั้น แนวโน้มของเงินบาท นอกจากจะอ้างอิงกับพัฒนาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมแล้ว ยังอ้างอิงโดยตรงกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย เราจึงจำเป็นต้องติดตามแนวโน้มการระบาดที่ยังคงรุนแรง จำนวนการสั่งซื้อวัควีน และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต่อแนวโน้มการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างใกล้ชิด