ธปท.จ่อหั่นจีดีพีรับโควิดระลอก 3 กระทบ มี.ค.ส่งออก-บริโภคเอกชนฟื้นตัว

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

ธปท.จ่อทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ที่มองไว้ 3% หลังผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงกว่าระลอก 1-2 เผยเศรษฐกิจเดือน มี.ค. ปรับดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ-แรงส่งภาครัฐ ดันการบริโภคเป็นบวก 1.8% การส่งออกโตฉลุย 22.1% หวังเป็นพระเอกหนุนเศรษฐกิจ

วันที่ 30 เมษายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ในภาพรวมยังคงไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เนื่องจากเริ่มมีการระบาดในช่วงปลายเดือน

อย่างไรก็ดี ธปท.ยอมรับว่าการระบาดครั้งนี้จากข้อมูลเร็วยอมรับว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย ธปท.คงมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในระยะต่อไปจากเดิมที่มองไว้ในระดับ 3% ซึ่งในเดือนพฤษภาคมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมโดยจะนำภาพผลกระจากการระบาดระลอก 3 เข้าไปประเมินการเติบโตเศรษฐกิจอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนพิจารณามาตรการช่วยเหลือในส่วนของลูกหนี้รายย่อย ภายหลังจากออก 2 มาตรการล่าสุด ได้แก่ สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเปิดให้สถาบันการเงินได้ยื่นคำขอแล้ว ส่วนมาตรการรายย่อยอยู่ระหว่างการประเมินภาพผลกระทบและประสานงานกับภาครัฐ เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือมีความครอบคลุม

“จากเดิมก่อนจะมีการระบาดระลอก 3 การฟื้นตัวทยอยปรับดีขึ้น ทั้งในดัชนีภาคการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน แต่หลังจากมีระบาดระลอก 3 มองว่าดัชนีที่จะเห็นการสะดุดในไตรมาสที่ 2 จะเป็นเรื่องการบริโภคตามกิจกรรมที่ลดลง และการท่องเที่ยวที่เลื่อนออกไป แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาส่วนกระตุ้นการบริโภค ทำให้เห็นตัวเลขบริโภคกลับมาได้ในปลายปี แต่ที่เป็นแรงส่งดี ๆ ต่อเนื่อง และเป็นพระเอกของปีจะเป็นการส่งออก”

ชญาวดี ชัยอนันต์

ทั้งนี้ หากดูเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน โดยภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องชี้ที่มีบทบาทและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค.เติบโต 22.1% (ไม่รวมทองคำ) และไตรมาสที่ 1 เติบโต 11.8% เป็นผลมาจากอุปสงค์คู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสหรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินจำนวนมากจะส่งผ่านต่อการค้าโลก และเป็นแรงส่งต่อการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องได้

ขณะที่ภาคการบริโภคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงส่งจากมาตรการรัฐ ซึ่งการเติบโตปรับดีขึ้นทุกหมวด สะท้อนจากข้อมูลบัตรเครดิต และการซื้อสินค้าคงทน ส่งผลให้เดือน มี.ค. การบริโภคเอกชนเติบโตขยับเป็นบวกอยู่ที่ 1.8% จากเดือนก่อนหน้าหดตัว -2.5% อย่างไรก็ดี ตัวเลขไตรมาสที่ 1 ยังคงติดลบ -1.7%

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวในระดับ 5.7% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ไม่รวมเงินโอน หดตัวทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน แต่เป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณมีความล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจเดือน มี.ค. ทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอก 2 แต่หากดูตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยดูจากตัวเลขผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92,279 คน จากเดือน ก.พ. อยู่ที่ 90,904 คน และมองไปข้างหน้าการระบาดระลอก 3 มีความรุนแรงกว่าระลอก 1 และ 2 ซึ่งต้องติดตามดูผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะต่อไป

“ภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. เครื่องชี้วัดปรับดีขึ้นตามการส่งออกและแรงเสริมภาครัฐ และไตรมาส 1 การฟื้นตัวได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 2 ทำให้การบริโภคลดลงไปบ้าง แต่การส่งออกค่อนข้างดี ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 พอไปได้ ส่วนผลการระบาดระลอก 3 ธปท.คงต้องติดตามใกล้ชิด แต่เชื่อว่าการส่งออกจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า”

นางสาวชญาวดี กล่าวเพิ่มเติม สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนอยู่ที่ 0.8 พันล้านดอลลาร์ แต่หากดูตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท จะเห็นว่าเงินบาทโดยเฉลี่ยปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัว