สินเชื่อบัตรเครดิตส่อไม่เติบโต ผลพวงโควิดยืดเยื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปีนี้ สินเชื่อบัตรเครดิตยังทรงตัว หรืออาจหดตัว 1% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัว 1.6% หลังสถานการณ์โควิด-19 ยังยือเยื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เนื่องจากบัตรเครดิตมีสถานะเป็นเครื่องมือในการชำระค่าบริการและสินค้าแทนเงินสด ดังนั้นเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวจึงส่งผลทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงตาม

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในไตรมาสที่ 1/2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 80% มักเลือกที่จะผ่อนชำระรายเดือนบางส่วน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความเปราะบางทางการเงินของลูกหนี้ในช่วงโควิด 19 แล้ว ยังทำให้โจทย์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีการเร่งดูแลพอร์ตลูกหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุก ตลอดจนการขยายกรอบระยะเวลาการเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธปท. จนถึง 30 มิ.ย. 2564 อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงสถานะทางการเงินของลูกหนี้และบรรเทาแรงกดดันต่อปัญหาคุณภาพหนี้บัตรเครดิตในภาพรวมลงบางส่วน

ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาในปี 2564 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สินเชื่อบัตรเครดิตของระบบ (รวมทั้ง Bank และ Non-Bank) ในปี 2564 จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า สินเชื่อบัตรเครดิตอาจจะทรงตัวหรือมีโอกาสหดตัวลงเล็กน้อยประมาณ 1.0% เทียบกับที่หดตัวลง 1.6% ในปี 2563 ที่ผ่านมา