ผลสำรวจ ผู้ถือบัตรเครดิต ขาดสภาพคล่อง เลือก “ชำระขั้นต่ำ-จ่ายบางส่วน” พุ่ง

บัตรเครดิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิตช่วงไตรมาสแรกปีนี้ พบ ส่วนใหญ่เลือกจ่ายขั้นต่ำ หากขาดสภาพคล่อง ชี้สัดส่วนผู้ชำระบางส่วนมีมากขึ้น ขณะที่กลุ่มที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือขอผ่อนผันภาระผ่อนต่อเดือนลง สะท้อนผลกระทบโควิดทำ “สถานะทางการเงินถดถอย”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ พบว่า การเลือกจ่ายขั้นต่ำได้ในยามที่ขาดสภาพคล่องเป็นเหตุผลอันดับต้น ๆ ของการเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 80% ในผลสำรวจฯ รอบนี้ ก็เลือกที่จะผ่อนชำระคืนบางส่วนด้วย โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าผลสำรวจฯ ปี 2562 (ก่อนโควิด 19) ที่มีสัดส่วนของผู้ที่ผ่อนชำระบางส่วนราว 63.8% เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจฯ ปี 2564 ยังพบว่า ประมาณ 48% ของกลุ่มตัวอย่างลูกหนี้บัตรเครดิตที่เข้ามาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือในรูปของการผ่อนผันภาระผ่อนชำระต่อเดือนลง

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลสำรวจฯ ปี 2564 นี้ อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ถือบัตรกลุ่มนี้เผชิญความยากลำบากที่จะปลดหนี้ได้

อย่างไรก็ดี หากมองในภาพรวมก็จะพบว่า ลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพการชำระหนี้สูง ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่มีอำนาจซื้อและมีการใช้จ่ายต่อเดือนสูง ทำให้ประมาณ 75% ของปริมาณการใช้บัตรรวมในแต่ละปียังมีการชำระคืนเต็มจำนวน

นอกจากนี้ แม้ที่ผ่านมา หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บัตรเครดิตจะไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง แต่ก็ยังเป็นประเด็นติดตามต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ NPL บัตรเครดิตของระบบไว้ที่ 1.90-2.50% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2563 ที่ประมาณ 1.91% เนื่องจากยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ประคองอยู่

ขณะที่ คาดว่า มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ โดยจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพื่อรักษาประวัติทางการเงินของตนเอง