เงินบาทขยับกรอบแคบ 31.40 บาท จับตาประชุม กนง.ทบทวนจีดีพี

เงินบาทขยับกรอบแคบ
ภาพจาก ภาพโดย 41330 จาก Pixabay

แบงก์ประเมินเงินบาทขยับกรอบแคบ 31.10-31.40 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ ธุรกรรมเบาบางตามวันหยุด เกาะติดประชุม กนง.-บีโออี-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 3-7 พ.ค. 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10-31.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยทิศทางการเคลื่อนไหวจะอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อหลายวัน ทำให้ธุรกรรมค่อนข้างบาง ปัจจัยเงินปันผลชะลอตัวลง อาจจะเห็นเงินบาทแตะกรอบล่างที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ได้

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามสำคัญในสัปดาห์หน้า จะเป็นการประชุมคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ค.นี้ โดยมีการส่งสัญญาณทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ได้มีการปรับประมาณการจีดีพีในรอบนี้ เนื่องจากยังไม่ได้อยู่ในรอบปรับประมาณการ ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องรอติดตามการฟื้นตัวของยุโรปที่อาจมีผลต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์ปรับตัว

ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัดปดาห์หน้ายังคงเห็นนักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตร (บอร์ด) อยู่ โดยที่กระแสฟันด์ในสัปดาห์ (วันที่ 26-30 เม.ย. 64) เป็นการไหลเข้าสุทธิรวม 17,200 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า โดยตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 3,300 ล้านบาท และตลาดพันธบัตรซื้อสุทธิ 13,870 ล้านบาท

“เงินบาทสัปดาห์หน้าคงเห็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยกรอบบนที่ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์คงเป็นไปได้ยาก แต่กรอบล่างอาจได้เห็น เพราะมีฟันด์โฟลวไหลเข้าที่หนุนให้บาทขยับแข็งค่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ทิศทางเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยปริมาณธุรกรรมเบาบาง ตลาดในประเทศเปิดทำการเพียง 3 วัน ซึ่งนักลงทุนจับตาดัชนี ISM ภาคบริการ และการจ้างงานสหรัฐฯ ถ้าดีเกินคาด ดอลลาร์และผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ขึ้น จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ ยังมีประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ซึ่งคาดว่าจะยังคงนโยบายการเงิน

ส่วนปัจจัยในประเทศ ติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. และคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกบี้ย 0.50% ต่อปีตามเดิม พร้อมส่งสัญญาณกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าออกไป เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอก 3 อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกขยายตัวได้ดีตามการค้าโลก และเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


“เงินบาท เดือน เม.ย. ฟื้นตัวเล็กน้อยตามแรงซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ หลังอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาคในไตรมาส 1”