คลัง-ธปท. หั่น GDP ระลอกใหม่ เร่งรับมือ “ท่องเที่ยว-บริโภค” สะดุด

Mladen ANTONOV / AFP

ในที่สุดก็ถึงคิวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ที่ได้ประกาศปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ของไทยลง เช่นเดียวกับสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนที่พาเหรดปรับลดประมาณการกันไปก่อนหน้านี้

โดย “ดร.กุลยา ตันติเตมิท” ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2.8% ต่อปี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 2 ล้านคน จากเดิมคาด 5 ล้านคน หรือลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อกำกัดเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เปิดเฉพาะบางพื้นที่นำร่อง ทำให้คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 49% จากเดิมคาด 2.6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการเร่งการเบิกจ่ายในปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท เป็นราว 6.02 แสนล้านบาท จากตัวเลขประมาณการเดิมที่ราว 5.02 แสนล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยพยุงได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือมาตรการ และจะเร่งสรุปภายในเดือน พ.ค.นี้

“การดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการ ม.33 เรารักกันและมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้นได้”

“ดร.กุลยา” กล่าวด้วยว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายประเทศ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลก และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

ด้าน “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. และไตรมาส 1 ปี 2564 ยังไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เนื่องจากเพิ่งเริ่มการระบาดในช่วงปลายเดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี ธปท.ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย ธปท.คาดว่าจะปรับประมาณการจีดีพีในระยะต่อไป จากเดิมคาดการณ์จีดีพีโตที่ 3%

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 เข้าไปประเมินด้วย

“ก่อนจะมีการระบาดระลอก 3 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้น ทั้งในดัชนีภาคการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐการลงทุนเอกชน แต่หลังจากมีระลอก 3 ดัชนีที่จะเห็นการสะดุดในไตรมาส 2 จะเป็นเรื่องการบริโภคตามกิจกรรมที่ลดลงและการท่องเที่ยว แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามากระตุ้นการบริโภค ทำให้เห็นตัวเลขบริโภคกลับมาได้ในปลายปี แต่ที่เป็นแรงส่งดี ๆ ต่อเนื่องและเป็นพระเอกของปีนี้จะเป็นการส่งออก”

นอกจากนี้ ต้องติดตามผลกระทบตลาดแรงงานที่ในเดือน มี.ค. 2564 ยังคงเปราะบาง เนื่องจากตัวเลขผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่อยู่ที่ 92,279 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 2564 อยู่ที่ 90,904 คน

“ชญาวดี” บอกด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการช่วยเหลือในส่วนของลูกหนี้รายย่อย เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยกำลังประเมินภาพผลกระทบและประสานงานกับภาครัฐอยู่ คาดว่าจะออกมาได้เร็ว ๆ นี้


ส่วนมาตรการจะออกมาอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป