“แลกเปลี่ยนเงิน” หนุนธปท.รื้อเกณฑ์ เอื้อทำธุรกิจคล่องตัว

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ธปท.เล็งผ่อนเกณฑ์อนุญาตทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา เปิดรับฟังความเห็นแก้กฎกระทรวงถึง 28 พ.ค.นี้ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” หนุนผู้กำกับยืดหยุ่นเอื้อธุรกิจ “ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ” หลังเจอมรสุมโควิด-19 ทยอยปิดสาขา 35 แห่ง รับมือวิกฤตลากยาวถึงปี’65

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 เพื่อปรับปรุงรูปแบบการอนุญาตการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ และยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าว รวมทั้งผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่ยังมีข้อจำกัด

ซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว จะเพิ่มความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก และมีทางเลือกในการใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศที่มีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น มีการนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ มาใช้ในการบริการ หรือการแต่งตั้งตัวแทนการให้บริการรับจ่ายเงินสดเพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าด้วยต้นทุนถูกลง เป็นต้น

ทั้งนี้ การเปิดให้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 28 พ.ค. 2564

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.) การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ จะประกอบด้วย 1.1) การเพิ่มรูปแบบการอนุญาตให้ธุรกิจที่มีรูปแบบเป็นนวัตกรรมซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อทดสอบการประกอบธุรกิจก่อน จากเดิมที่ต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง

1.2) การให้ใบอนุญาตและใบขึ้นทะเบียนใช้ได้กับสถานที่ประกอบธุรกิจทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ สาขาและช่องทางการให้บริการ จากเดิมที่ต้องขออนุญาตสำหรับสถานที่ประกอบธุรกิจแต่ละแห่ง

1.3) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ โดยไม่บังคับใช้กับกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทเงินทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ

และ 1.4) ให้บุคคลรับอนุญาตสามารถให้บริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ธนบัตรต่างประเทศ รวมถึงกำหนดให้บุคคลรับอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น โดยให้บุคคลรับอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีก 3 ปีนับจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

2.การนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากต่างประเทศมาใช้ทำธุรกรรมในประเทศ กำหนดให้ผู้ส่งออกและผู้มีรายได้ประเภทอื่น ๆ จากต่างประเทศสามารถนำเงินที่ได้รับจากต่างประเทศมาขาย

หรือทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียน จากเดิมที่ให้ขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศบางประเภท เช่น ธนาคารพาณิชย์ เท่านั้น

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริช สีส้ม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราที่จะสามารถทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่างกรณีการให้ใบอนุญาตและใบขึ้นทะเบียนใช้ได้กับสถานที่ประกอบธุรกิจทุกแห่ง ตรงนี้จะช่วยลดต้นทุนและเวลาได้ค่อนข้างมาก จากเดิมการขอใบอนุญาต (license) จะขอได้เพียงไตรมาสละ 1 ครั้ง หรือแค่ 4 ครั้ง ใน 1 ปี

ทั้งนี้ ระยะเวลาการยื่นขอและอนุญาตจะใช้เวลา 3-4 เดือน ซึ่งในระหว่างรอ ธปท.ตรวจสอบนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจองพื้นที่เพื่อเปิดสถานประกอบการ ถือเป็นภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียเพิ่ม

“แม้ว่า ธปท.จะผ่อนคลายในจุดนี้ ให้ใบอนุญาต 1 ใบสามารถใช้กับสถานที่ประกอบการธุรกิจได้ทุกแห่งจะช่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสำนักงานใหญ่ แต่หากพิจารณาในแง่ของการซื้อขายยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ 1 ใบอนุญาตสามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้ 8 แสนบาทต่อวันต่อราย ซึ่งหากลูกค้ามีความต้องการซื้อเงินสกุลต่างประเทศ 1.5 ล้านบาท จากเดิมลูกค้าอาจจะซื้อจาก 2 แห่ง แต่หลังจากนี้อาจจะต้องซื้อใน 2 วัน เพื่อให้ครบจำนวนที่ต้องการ” นายปิยะกล่าว

ขณะที่การอนุญาตให้ผู้ส่งออกและผู้มีรายได้ประเภทอื่น ๆ จากต่างประเทศ สามารถนำเงินที่ได้รับจากต่างประเทศมาขายหรือทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจรับแลกเงินนั้น ปัจจุบันผู้ส่งออกจะได้รับเงินตราต่างประเทศมาในรูปของการลงบัญชี ไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสดสกุลเงินต่างประเทศ ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงทำธุรกรรมกับแบงก์ผ่านการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) จึงไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมของธุรกิจรับแลกเงินมากนัก

อย่างไรก็ดี หาก ธปท.ขยายให้ผู้ประกอบการสามารถรับโอนเงิน เช่น โอนเงินค่าศึกษาในรูปแบบ C to P (customer to personal) จะช่วยเพิ่มธุรกรรมให้กับธุรกิจรับแลกเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นเอกสารขอใบอนุญาตโอนเงิน (money transfer) โดยมีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตไปบางส่วนแล้ว

“หาก ธปท.รับฟังความคิดเห็นและผ่อนคลายหลักเกณฑ์บางอย่างให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อธุรกิจแลกเงิน แต่หลายอย่างอาจจะล่าช้าไป หรือมาในตอนตลาดวายหมดแล้ว เพราะโควิด-19 มาเบรกเรื่องการเดินทางต่างประเทศนานเกินไป ตลาดซบเซา และหลายอย่างแบงก์ทำไปหมดแล้ว แต่ก็ดีที่ผู้กำกับพยายามส่งเสริมและผ่อนคลายมากขึ้น” นายปิยะกล่าว

ด้านภาพรวมธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงสิ้นปี 2563 มากนัก เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการหยุดการเดินทางของนักท่องเที่ยวเช่นเดิม


“ตอนนี้ธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของบริษัทลดลงค่อนข้างมากเหลือเฉลี่ยเดือนละ 800 ล้านบาท จากช่วงปกติอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนสาขาก็ลดลงเหลือ 15 แห่ง จากเดิมมีอยู่ 50 แห่ง ซึ่งเป็นการทยอยลดเพื่อประคองธุรกิจที่คาดว่าจะกลับมาได้ภายในปี 2565” นายปิยะกล่าว