ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขภาคการผลิตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ตัวเลขภาคการผลิตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/5) ที่ระดับ 3115/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 31.07/08

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลหลักหลังไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 64.7 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2552

ก่อนหน้านี้ ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 60.4 ในเดือน มี.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังคงถูกปัจจัยกดดันจากการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือน มี.ค. 64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน

ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ,

รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นและมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น  พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืน,

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวระหว่าง 31.15/31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/5) ที่ระดับ 1.2002/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 1.2000/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรัตัวขึ้นแตะ 53.8 ในเดือน เม.ย. จากระดับของเดือน มี.ค.ที่ 53.2

ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขการประเมินเบื้องต้นที่ระดับ 53.7 นอกจากนี้ ดัชนี PMI ที่ปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว ธุรกิจในยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อุตสาหกรรมบริการในยุโรปฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ผลสำรวจระบุว่า ผู้ประกอบการเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ ยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลให้รัฐบาลบางประเทศต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่โรงงานส่วนใหญ่ยังคงเปิดทำการตามปกติ ขณะที่อุตสาหกรรมบริการได้ปรับตัวให้สอดรับกับวิถีปกติใหม่

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1994-1.2049 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2047/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/5) ที่ระดับ 109.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 109.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังคงมีความเสี่ยงที่อ่อนค่า หลังรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ญี่ปุ่นจะสามารถจัดงานมหกรรมกีฬาโตเกียว โอลิมปิก ได้ตามกำหนดการเดิมในช่วงฤดูร้อนหรือไม่

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.13-109.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.12/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.55/0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.00/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ