หุ้นไทยขาดปัจจัยใหม่อัพไซต์เริ่มจำกัด แกว่งตัวในกรอบ 1,565-1,580 จุด

หุ้น-การเงิน

ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยใหม่อัพไซต์เริ่มจำกัด แก่วงตัวในกรอบ 1,565-1,580 จุด นักลงทุนยังรอติดตามตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐคืนนี้ จับตา ศบค.เตรียมประเมินกรอบ 14 วันการประกาศใช้มาตรการคุมเข้ม

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 7 พ.ค. 2564 ว่า ตลาดหุ้นวันนี้แกว่งตัวออกข้าง ยังไร้ปัจจัยหนุน วานนี้ตลาดหุ้นไทยเกิดรีบาวนด์เชิงเทคนิคกลับมายืนเหนือ 1,570 จุดได้ หลังมีแรงซื้อกลับในหุ้นขนาดใหญ่

โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลื่อนใช้เกณฑ์คำนวณ Free Float แบบใหม่ และได้แรงหนุนอ่อน ๆ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังทรงตัว คาดนักลงทุนยังรอติดตามตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐคืนนี้ จึงคาดว่า SET Index แกว่งตัวในกรอบระหว่าง 1,565-1,580 จุด ภาพรวมยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ๆ ทำให้อัพไซต์ของตลาดเริ่มจำกัด

กลยุทธ์การลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับกลุ่ม Global Play เป็นหลัก ส่วนกลุ่ม Domestic Play ต้องเลือกที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยจับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วงสุดสัปดาห์ว่าจะเร่งตัวขึ้นอีกหรือไม่ นักลงทุนที่สะสมหุ้นช่วงตลาดย่อลงไปแถว 1,550-1,560 จุด อาจพิจารณาขายทำกำไรบริวณแนวต้าน 1,580 จุด(+/-) แล้วรอจังหวะย่อเพื่อสะสมเก็งกำไรรอบใหม่

ติดตาม ศบค. เตรียมประเมินกรอบ 14 วันการประกาศใช้มาตรการคุมเข้ม ล่าสุดยังย้ำการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวนั้นขอให้เป็นทางเลือกสุดท้ายหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ดังนั้นยังต้องติดตามกรณีคลัสเตอร์คลองเตยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ส่วนทางสหรัฐประกาศตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 498,000 ราย ดีกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 540,000 ราย ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 ในสหรัฐ สะท้อนการฟื้นตัวแข็งแกร่งของเศษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 64 ขณะที่ DoIlar Index อ่อนค่าลงเล็กน้อย รอติดตามข้อมูลอัตราการว่างงานและการจ้างงานนอกภาคการเกษตรคืนนี้

ขณะที่สัญญาณจากธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.10% และคงวงเงินการซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการ QE จำนวน 8.95 แสนล้านปอนด์ไว้ตามเดิม อีกทั้งยังปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของอังกฤษปีนี้จะขยายตัวกว่า 7.25% (เดิม 5.5%) หลังการฉีดวัคซีนในประเทศและการควบคุมโควิด-19 มีความคืบหน้า หากแต่ในรายงานหลังการประชุมกลับได้มีการส่งสัญญาณว่าจะลดวงเงิน QE สู่ระดับ 3.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณจากธนาคารกลางที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

โดยทางฝ่ายวิจัยคาดว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ธนาคารกลางอื่น ๆ เริ่มพิจารณาลดวงเงิน QE และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในอนาคต