หุ้นญี่ปุ่น โอกาสและความน่าสนใจ

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

สุกฤษฎิ์ กิตติธนโสภณ 
บลจ.วรรณ

ในปี 2021 การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักลงทุน เนื่องด้วยทุกท่านคงทราบดีแล้วว่านับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เกิดการระบาด COVID-19 ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน แต่ตลาดหุ้นหลาย ๆ ประเทศในรอบ 1 ปีที่ผ่านมากลับปรับตัวเพิ่มสวนทางภาวะเศรษฐกิจ บางตลาดทำจุดสูงสุดใหม่ประวัติการณ์

โดยเหตุผลที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่สอดประสานกัน เหตุผลในแต่ละตลาดหุ้นก็แตกต่างกันไปเล็กน้อยตามลักษณะหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีตลาดหุ้นนั้น ๆ

วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องตัดสินใจจำกัดการรวมกลุ่มของผู้คนและการเดินทางทั้งระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ หรือการ lockdown…ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจให้ลดลงอย่างมากจนเป็นลบ

จากประโยคคลาสสิกที่ว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส…หุ้นเทคโนโลยีโดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกได้รับประโยชน์ จำนวนผู้ใช้งาน ยอดขาย กำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ เราจึงเห็นภาพตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาทำจุดสูงสุดใหม่ท่ามกลางวิกฤต อาทิ ดัชนี S&P500

แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่เบื้องหลังจุดสูงสุดใหม่มี 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ information technology, consumer discretionary และ healthcare รวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของดัชนี และดัชนี Nasdaq ซึ่งน้ำหนักเกือบครึ่งอยู่ในกลุ่ม information technology (ตลาดเรียกว่ากลุ่มหุ้น new economy/หุ้นเติบโตสูง)

ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นที่ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนที่พึ่งพารายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบดั้งเดิม เช่น พลังงาน ธนาคาร การขนส่ง การท่องเที่ยว ค้าปลีก (ตลาดเรียกว่ากลุ่มหุ้น old economy/หุ้นมูลค่า/หุ้นวัฏจักร) แม้ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดหลังการเทขายในปีก่อน แต่ก็ยังไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย

แต่ผ่านมาราว 4 เดือนของปี 2021 เราเห็นภาพการปรับสัดส่วนการลงทุนทั่วโลกจากกลุ่มหุ้น new economy เข้าสู่หุ้นกลุ่ม old economy จากความคาดหวังการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังทั่วโลกเริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีน COVID-19

แต่หากกลับมาพิจารณาถึงราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ในหลายตลาดได้ฟื้นตัวขึ้นมาตอบรับล่วงหน้า อาจจะนำมาสู่คำถามในใจนักลงทุนหลาย ๆ ท่านว่า ในครึ่งหลังปี 2021 หุ้นเหล่านี้จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้หรือไม่ แพงไปแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับพื้นฐานในระยะกลางถึงยาว

ทีมกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.วรรณ มีมุมมองว่า หุ้นเหล่านี้ยังมีแนวโน้มไปต่อในครึ่งปีหลัง แต่ต้องทำการคัดเลือกลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และหนึ่งในตลาดหุ้นที่น่าสนใจในครึ่งปีหลัง คือ ญี่ปุ่น

หลังมีข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ส่งผลค่าเงินเยนแข็งค่ามากกระทบต่อบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศสูง ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 ต่อด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ทำให้การเติบโตในตลาดต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นเผชิญความท้าทาย

รวมถึงทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้กำลังซื้อภายในชะลอลง หุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ จึงขาดเสน่ห์ไม่ค่อยมีนักลงทุนพูดถึงมากนัก ด้วยภาพรวมมองว่าอัตราการเติบโตของรายได้ และ/หรือกำไรบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างต่ำ

แต่ญี่ปุ่นในทศวรรษใหม่นี้น่าจับตามอง เพราะญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีในปีที่แล้วจาก นายชินโซะ อาเบะ เป็น นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นอกเหนือจากการสานต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์ รัฐบาลชุดใหม่ได้นำเสนอแผนฟื้นฟูการเติบโตของญี่ปุ่นผ่านการสนับสนุน digital transformation

จากข้อมูลของ OECD เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอย่างเช่น สหรัฐ แล้ว ญี่ปุ่นมีการลงทุนด้าน ICT น้อยมากในอดีต โดย OECD แนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนเครื่องมือด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ ระบบ cloud computing

พร้อมผลักดันการเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่ภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตต้องอาศัยแรงงานที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีควบคู่กับภาคธุรกิจที่มีการลงทุนด้านดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายการสนับสนุน green energy ที่สอดรับกับกระแสโลก โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ โจ ไบเดน ที่ตัดสินใจกลับเข้าสู่ข้อตกลง Paris Climate Agreement นำมาสู่ theme การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันนโยบายของภาครัฐ ในส่วน digital ได้แก่ หุ้นเทคโนโลยีญี่ปุ่น ที่เมื่อเทียบกับหุ้นโลกประเภทเดียวกันแล้วมูลค่ายังไม่แพงมาก แต่สร้างอัตราการเติบโตได้เหนือค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น ฝั่ง green energy ยกตัวอย่าง เช่น หุ้นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็น megatrend ของตลาดโลก

นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อในอุตสาหกรรม autonomous โดยเฉพาะที่ใช้ในเครื่องจักรกลโรงงาน เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก

ขณะที่อีกหนึ่ง theme การลงทุนที่ยังคงน่าจับตามอง คือ สินค้าประเภท consumer goods ของญี่ปุ่น ที่กระแสตอบรับค่อนข้างดีในตลาดเอเชียที่กำลังขยายตัวอย่างประเทศจีน ASEAN โดยมีแนวโน้มกลับมาเติบโตหลังการเปิดประเทศอีกครั้งจากภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ค่อนข้างดี ก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19

หากพิจารณาถึงเป็นปัจจัยสนับสนุนในมุมมองตลาดหุ้น อ้างอิงข้อมูลจาก Factset Consensus และ Goldman Sachs Asset Management ณ สิ้นปี 2020 นักวิเคราะห์มีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมหุ้นญี่ปุ่นบนดัชนี TOPIX ในปี 2021 และ 2022 กำไรสุทธิมีแนวโน้มเติบโต 34% และ 21% ตามลำดับ เป็นระดับที่สูงกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เช่น สหรัฐ ยุโรป

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ บริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่น มีระดับเงินสดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศ DM มีทางเลือกใช้ไปในการเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น (ROE) อาทิ การลงทุนใหม่ ๆ การปรับโครงสร้างองค์กร ทำ M&A ซื้อคืนหุ้น

อีกปัจจัยคือแนวโน้มกระแสเงินทุนมีโอกาสไหลกลับเข้าสู่ตลาดเอเชีย รวมถึงหุ้นญี่ปุ่นในยุครัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มีนโยบาย Globalization มากกว่า ประธานาธิบดีคนก่อน สุดท้ายคือภาพการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนจากหุ้นเติบโตสูงมูลค่าแพงเข้าสู่หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมูลค่ายังไม่แพงมาก หุ้นญี่ปุ่นจึงน่าจะเป็นคำตอบในการลงทุนหุ้นในครึ่งปีหลัง 2021