โควิดรอบ 3 สะเทือน “เช่าซื้อ” รถ แบงก์สกรีนลูกค้าเข้มปล่อยกู้-รีเจ็กต์พุ่ง

“เช่าซื้อ” เร่งทบทวนแผนธุรกิจใหม่ พิษโควิดระลอก 3 ส่อฉุดยอดขายรถใหม่ฮวบ 30% “นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย”คาดสถาบันการเงินกลับมาเข้มงวดปล่อยกู้หลังช่วงไตรมาสแรกเริ่มผ่อนคลาย ดันรีเจ็กต์เรตส่อพุ่งแตะ 30% “ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้-ทหารไทยธนชาต-กรุงศรี” พร้อมช่วยประคองลูกค้าต่อเนื่องตามแนวทาง ธปท.

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาตลาดเช่าซื้อเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวกลับมาแข่งขันกันมากขึ้น แต่หลังจากเกิดโควิด ระลอก 3 ระบาดส่งผลให้ทุกค่ายต้องกลับมาทบทวนแผนการเติบโตใหม่อีกครั้งแบบเดือนต่อเดือน และคาดปีนี้ยอดขายรถยนต์ใหม่และใช้แล้วจะลดลงราว 20-30%

ขณะที่แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา แต่การระบาดระลอกใหม่สถาบันการเงินจะกลับมาเพิ่มความระมัดระวังปล่อยสินเชื่อโดยสัญญาณอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (rejection rate) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30%

นอกจากนี้ จะเห็นสถาบันการเงินหันไปเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมากขึ้น ซึ่งในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้มีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มมนุษย์เงินเดือนประมาณ 70% และที่เหลือ 30% จะเป็นกลุ่มเกษตรกรและอาชีพอิสระ เนื่องจากบริษัทต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยรายได้ขั้นต่ำจะต้องไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

“ก่อนจะมีโควิดระลอก 3 การปล่อยสินเชื่อผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนี้คิดว่าแบงก์จะต้องกลับมาให้ความสำคัญการปล่อยสินเชื่อระมัดระวังมากขึ้น เพราะสถานการณ์เปลี่ยนค่อนข้างเร็ว ส่วนผลงานไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าแผนเล็กน้อยแต่อยู่ในกรอบ จากเป้าปล่อยสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท”

นายวิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า บริษัทพร้อมให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เริ่มมีลูกค้าโทร.เข้ามาปรึกษาขอความช่วยเหลือ ซึ่งบริษัทจะให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี

เช่น กลุ่มมนุษย์เงินเดือนโดนลดเงินเดือน หรือไม่มีการทำงานล่วงเวลา (OT) จะพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ให้ หรือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในเซ็กเตอร์โรงแรมและถูกปิด จะพักเงินต้นให้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น

“ล่าสุด ณ เดือน เม.ย. 2564 บริษัทมีลูกค้าที่ขอรับความช่วยเหลือ 8 หมื่นบัญชี มีราว 50% หรือประมาณ 4 หมื่นบัญชีที่สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ และออกจากโครงการบางส่วนโดยในจำนวนดังกล่าวที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ราว 2.4 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้เฉลี่ย 3 แสนบาทต่อรายและลูกค้าที่เข้าสู่กระบวนการพักหนี้มีประมาณ 1 หมื่นราย มูลหนี้เฉลี่ย 3 แสนบาทต่อราย อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มลูกหนี้ที่จะขอเข้าโครงการน่าจะเพิ่มขึ้นเพราะการระบาดระลอกใหม่ค่อนข้างรุนแรง” นายวิสิทธิ์กล่าว

นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาตกล่าวว่า ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อต่อเนื่องผ่านมาตรการขั้นต่ำที่มีอยู่ภายใต้โครงการตั้งหลักรอบ 2 ทั้งการลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ พักชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน หรือลดค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนสูงสุด 30% ไม่เกิน6 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อในปีนี้นายป้อมเพชรประเมินว่า ยอดขายรถยนต์อัตราการเติบโตคงไม่ได้สูงมา แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนน่าจะดีขึ้น โดยในไตรมาสแรกก่อนเกิดโควิดระบาดรอบใหม่ ยอดขายรถค่อนข้างสูงถึง 7-8 หมื่นคัน ดังนั้น หากมีการบริหารจัดการควบคุมการระบาดได้เร็วเชื่อว่ายอดขายทั้งปีจะไม่หดตัว

“ส่วนนโยบายการปล่อยสินเชื่อธนาคารยังคงนโยบายเดิมไม่ได้ปรับเข้มงวด เพราะธนาคารมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มพิจารณาตามรายได้และกลุ่มอาชีพ ทำให้ยอด rejection rate ค่อนข้างทรงตัว” นายป้อมเพชรกล่าว

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า กรุงศรี ออโต้ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่อง ปัจจุบันให้การช่วยเหลือกว่า 6.8 แสนราย ผ่าน 2 แนวทาง ได้แก่ การพักชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดค่างวดผ่อนชำระ และพร้อมช่วยเพิ่มเติมกับมาตรการของ่ธปท.” นางกฤติยากล่าว