เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังกนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย

ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่ กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก จากการระบาดของโควิด ระลอกที่ 3 ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันพุธ (5/5) ที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 31.13/14

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากนางเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว สภาคองเกรสได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ประธานาธิบดีสหรัฐนายโจ ไบเดน ยังได้พยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่เพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในโครงร้างพื้นฐานด้วย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะ 5.129 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมจากที่คาดว่าจะเพิ่ม 1.3%

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น จากที่คาดการณ์ว่าสหรัฐอาจขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ และเมื่อแยกตามหมวดแล้ว สหรัฐส่งออกเพิ่มขึ้น 6.6% แตะ 2 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 6.3% แตะ 2.745 แสนล้านดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดี (6.5) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลหลักหลังไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 64.7 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2552

ก่อนหน้านี้ ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 60.4 ในเดือนมีนาคม โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์ (7/5) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากการที่ตลาดลดคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 92,000 ราย สู่ระดับ 498,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้แต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ เมื่อเดือนมีนาคม 2563

นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 540,000 ราย โดยตลาดจับตาดูการเปิดเผยตัวเลขตลาดแรงานในคืนวันศุกร์นี้ (7/5)

สำหรับค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าหลังวันหยุดยาวในวันแรงาน และวันฉัตรมงคล ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าเม็ดเงินจะไหลออกจากเอเชียหลังตัวเลข GDP สหรัฐออกมาดี

ขณะที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.วันนี้ว่า คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่

โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กนง. จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ค่าเงินบาทยังคงถูกปัจจัยกดดันจากการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือน มีนาคม 64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน

ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้น

และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืน,

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8% ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.06-31.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (7/5) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันพุธ (5/5) ที่ระดับ 1.2017/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30.4) ที่ระดับ 1.2017/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส

โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.9 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2540 จากระดับ 62.5 ในเดือนมีนาคม

ขณะที่ยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา ในส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปแนะนำให้ทำการเปิดรับนักท่อเที่ยวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นเข้าสู่ยูโรโซน ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้

ในวันพฤหัสบดี (7/5) ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับตัวขึ้นแตะ 53.8 ในเดือนเมษายน จากระดับของเดือนมีนาคมที่ 53.2 ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขการประเมินเบื้องต้นที่ระดับ 53.7

นอกจากนี้ ดัชนี PMI ที่ปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว ธุรกิจในยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อุตสาหกรรมบริการในยุโรปฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจระบุว่า ผู้ประกอบการเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น โดยยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลให้รัฐบาลบางประเทศต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่โรงงานส่วนใหญ่ยังคงเปิดทำการตามปกติ ขณะที่อุตสาหกรรมบริการได้ปรับตัวให้สอดรับกับวิถีปกติใหม่

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1984-1.2090 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/5) ที่ระดับ 1.2074/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันพุธ (5/5) ที่ระดับ 109.32/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 108.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันอังคาร (4/5) ว่า ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจำนวนมากถึง 1,050 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ค่าเงินเยนยังคงมีความเสี่ยงที่อ่อนค่า หลังรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ญี่ปุ่นจะสามารถจัดงานมหกรรมกีฬาโตเกียว โอลิมปิก ได้ตามกำหนดการเดิมในช่วงฤดูร้อนหรือไม่

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.92-109.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/5) ที่ระดับ 109.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ