สภาพัฒน์ แจงยิบปมเบิกเงินกู้แผนงานด้านการแพทย์ 4.5 หมื่นล้านล่าช้า

เงิน-โควิด 1

สภาพัฒน์ แจงยิบปมเบิกจ่ายเงินกู้แผนงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ล่าช้า

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษก สศช. เปิดเผยว่า สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการเบิกจ่ายและแผนการใช้งบประมาณมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานเงินกู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) วงเงิน 45,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นั้น ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่

(1) แผนงาน/โครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากร
ทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการ
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(2) เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

(3) เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุขของประเทศ

(4) เพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

(5) เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุข (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1) ณ ข้อมูลวันที่ 5 พ.ค. 2564 มีการอนุมัติแผนงาน/โครงการดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 42 โครงการ วงเงินอนุมัติรวมทั้งสิ้น 25,825.8796 ล้านบาท และจากข้อมูลของรายงาน MIS ของกรมบัญชีกลางพบว่า มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 7,102.6471 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 27.50

“สาเหตุที่ทำให้มีการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำ เป็นผลจากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ เครื่องฉายรังสี ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค ก่อสร้างและปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางแพทย์ อาทิ ห้องความดันลบ (Negative pressure) cohort ward ห้องทันตกรรม”

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานะความก้าวหน้าของแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุข สามารถจำแนกได้ออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว โดยจากข้อมูลปัจจุบัน อยู่ที่ร้อยละ 27.50 ของวงเงินภายใต้แผนงาน/โครงการทั้งหมด (2) กลุ่มที่ยังไม่ถึงงวดของการเบิกจ่ายงบประมาณ (3) กลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ และ (4) กลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดโครงการ ดังนี้

โดยกลุ่มโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 7,102.6470 ล้านบาท (วงเงินอนุมัติ 12,976.3106 ลบ.) อาทิ การจ่ายค่าตอบแทน/เสี่ยงภัยให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 สำหรับภารกิจเพิ่มเติมในช่วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 การเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรค การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การสนับสนุนครุภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจและการปรับปรุงห้องความดันลบแก่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่กลุ่มโครงการที่ยังไม่ถึงงวดของการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 1,575.4590 ล้านบาท ได้แก่ การจ่ายค่าค่าตอบแทน/เสี่ยงภัยให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 สำหรับภารกิจเพิ่มเติมในช่วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019
ส่วนกลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 11,094.9465 ล้านบาท

อาทิ การสนับสนุนด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์/การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างในสถานพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล โดยปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ที่เกี่ยวกับการวิจัย/พัฒนาน้ำยาเพื่อการตรวจโรค การพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข

และกลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดโครงการ จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 179.1635 ล้านบาท อาทิ โครงการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์/โครงการปรับปรุงห้องผู้ป่วย ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร