แผนธุรกิจ “ทีเอ็มบีธนชาต” ชูแบรนด์ “ttb” ยกระดับชีวิตการเงินคนไทย

เปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับธนาคาร “ทหารไทยธนชาต” หรือ “ทีเอ็มบีธนชาต” ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร “ทหารไทย” (TMB) เดิม และธนาคารธนชาต โดยมีการเปลี่ยนชื่อย่อธนาคารและหลักทรัพย์เป็น “ttb” ก่อนที่การผนึกเป็นองค์กรเดียวกันจะเรียบร้อย 100% ภายในวันที่ 5 ก.ค.นี้

แผนเร่งด่วนภายใต้แบรนด์ใหม่

โดย “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า ปัจจุบันการรวมกิจการ 2 ธนาคารในเชิงบุคลากรที่มีพนักงาน 1.6 หมื่นคน ถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% เป็น “one team” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ประกาศใช้ชื่อธนาคารเป็น “ttb” เรียบร้อยแล้ว

สำหรับสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังจากนี้มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายฐานลูกค้าที่เลือกใช้ “ttb” เป็นธนาคารหลัก หรือ main bank ผ่าน financial well-being solution โดยมีเป้าหมายรวมลูกค้าที่มีอยู่กว่า 10 ล้านคน ให้หันมาใช้ “ttb” เป็นธนาคารหลัก เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

2.ยกระดับทางด้านดิจิทัล โดยทยอยขึ้นระบบโมบายแบงกิ้งแพลตฟอร์ม ทั้งในส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น

และ 3.ยกระดับบุคลากร เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยจะมีการเปลี่ยนนโยบายจาก “branch centric” (ใช้สาขาเป็นศูนย์กลาง) มาเป็น “digital centric” (ใช้ดิจิทัลเป็นศูนย์กลาง) และยังมีทั้งตู้เอทีเอ็มและคอลเซ็นเตอร์ โดยพนักงานจะแนะนำลูกค้าในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงทางด้านการเงินให้คนไทย

“การรวมกันของธนาคารไม่ใช่แค่ต้องการเป็นธนาคารใหม่ แต่ต้องการเป็นธนาคารใหม่ที่ทำสิ่งใหม่ ๆ โดยมาพร้อมสัญลักษณ์ใหม่ องค์กรใหม่ ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ทำต่อเนื่อง คือ การเดินหน้า 2 องค์กรให้เป็น 1 องค์กรสมบูรณ์ หลอมรวมจุดแข็งและเชื่อมต่อประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า”

พยุงลูกค้า 10 ล้านคนฝ่าวิกฤต

“ปิติ” บอกว่า สิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปี 2564 นี้คือ การดูแลลูกค้าเดิมที่มีอยู่กว่า 10 ล้านคน เพื่อช่วยให้แข็งแกร่งมากขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้เป้าหมายของธนาคารจะไม่มุ่งหาลูกค้าใหม่ แต่จะดูแลลูกค้าเก่าทุกกลุ่มให้มากที่สุด โดยลูกค้ากลุ่มธุรกิจมีมาตรการดูแลตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ ส่วนรายย่อยจะช่วยลดภาระหนี้ผ่านการรวมหนี้ (debt consolidation) เพื่อผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้

“ตั้งแต่เกิดโควิดธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วกว่า 7.5 แสนราย และพบว่า 90% เมื่อพ้นล็อกดาวน์รอบแรกสามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้ ขณะที่รอบนี้เชื่อว่าน่าจะมีทิศทางดีกว่ารอบแรก เนื่องจากคนเข้ามาขอความช่วยเหลือน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ แต่สภาพคล่องของธุรกิจลดลง ดังนั้น การเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ในอนาคตคงไม่ใช่มาตรการแบบเดิมที่เน้นช่วยทุกคน แต่จะเฉพาะเจาะจงและเน้นช่วยลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น”

โซลูชั่นทุกช่วงชีวิตเจาะ 4 กลุ่ม

ขณะที่ “อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคลกล่าวว่า เป้าหมายของ retail banking จะมองลูกค้าเป็น 4 เซ็กเมนต์ เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่มแต่ละช่วงชีวิต ได้แก่ 1.กลุ่มทำงานสร้างตัว ผ่านฉลาดใช้ฉลาดออม เพื่อล้านแรกในชีวิต 2.กลุ่มสร้างครอบครัว ต้องการสร้างทรัพย์ โดยเสนอผ่านสินเชื่อและการจัดการหนี้สิน 3.กลุ่มผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จที่ต้องการลงทุนเพื่ออนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และ 4.กลุ่มเกษียณอย่างมั่งคั่ง โดยเสนอโซลูชั่นด้านการลงทุน ประกัน เพื่อคุ้มครอง

“เสนธิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจกล่าวว่า ธนาคารจะขับเคลื่อนลูกค้าธุรกิจผ่าน 3 โซลูชั่น เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดี ได้แก่ 1.มอบแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมและเพียงพอผ่าน “สินเชื่อเพื่อเครือข่ายธุรกิจ ทีทีบี” 2.บริการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารธุรกิจผ่าน “ทีทีบี บิสซิเนสวัน” หนุนทำธุรกรรมครบวงจร และ 3.มอบชีวิตการเงินที่ดีให้แก่พนักงานและคู่ค้า “บริการการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน ทีทีบี เพย์โรลพลัส”

ด้าน “ป้อมเพชร รสานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์กล่าวว่า ภายใต้พอร์ตสินเชื่อรถยนต์กว่า 4 แสนล้านบาท ttb จะยังคงเป็นผู้นำตลาดและเติบโตควบคู่กับลูกค้าและคู่ค้า ภายใต้แบรนด์ “ttbDRIVE” พร้อมขับเคลื่อนสนับสนุนครอบคลุมทุกภาคส่วนใน ecosystem ของธุรกิจรถยนต์ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ได้แก่

1.พร้อมขับเคลื่อนให้ลูกค้าไปต่อ ช่วยลูกค้าเคลียร์ทุกอุปสรรคทางการเงิน 2.พร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจคู่ค้าไม่สะดุด เปิดตัว “DRIVE Connect Platform” มิติใหม่ของการทำตลาดออนไลน์ผ่านทาง Facebook ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และ 3.พร้อมยกระดับศักยภาพทีมงาน

โควิด 3 รอบไม่กระทบควบรวม

“ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ” ผู้จัดการใหญ่ทีเอ็มบีธนชาตกล่าวว่า แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 ระลอก แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการควบรวมกิจการ โดยทุกอย่างยังคงเดินไปได้ตามแผน จากที่ปักธงไว้ 18 เดือน โดยวันที่ 5 ก.ค. 2564 นี้ จะรวมกันเป็นธนาคารเดียวกันอย่างสมบูรณ์ หรือ “one bank” เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของลูกค้า

ทั้งนี้ ระหว่างทางก็ได้ดำเนินการทยอยรวมช่องทางสาขาเอทีเอ็มเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ “ttb” โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.นี้ รวมถึงการทดสอบระบบการเชื่อมต่อไอที การเชื่อมผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝาก เครดิตการ์ด หรือการเชื่อมข้อมูลลูกค้าบนดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อลดข้อบกพร่องต่าง ๆ และให้เหลือเพียงระบบเดียวต่อไป