โควิดรอบ 3 ทุบหุ้นรูดปรื๊ด Q2 ลุ้น “วัคซีน-ยิ่งใช้ยิ่งได้” หนุนครึ่งปีหลังฟื้น

ภาพบัตรเครดิต

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่อหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส พิษ “โควิดระลอกใหม่”ทุบกำลังซื้อ โบรกฯ “กสิกรไทย” ชี้กำไรไตรมาสแรก “KTC-AEONTS” ออกมาดีสวนทางสเปนดิ้ง เหตุตั้งสำรองลดลง ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ส่อแววกำไรต่ำกว่าไตรมาส 1 ลุ้นครึ่งปีหลังมีปัจจัยบวกจาก “วัคซีน-ยิ่งใช้ยิ่งได้” หนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรกลับมาเป็นบวก แนะขายหุ้น KTC ราคาเป้าหมายสิ้นปี 39 บาท เชียร์ซื้อ “AEONTS” ราคาเป้าหมาย 258 บาท

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ของธุรกิจบัตรเครดิตยังแผ่วลงต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 1/2564 ที่หดตัวราว 7-8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ฐานสูง เป็นผลจากการระบาดของโควิดระลอก 3 ในประเทศที่ส่งผลกระทบโดยตรง

แม้ว่าประชาชนอยู่ในช่วงทำงานที่บ้าน (WFH) ซึ่งอาจหนุนให้มียอดรูดสั่งอาหารหรือซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้นได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะมาทดแทนกิจกรรมการช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า หรือการใช้จ่ายท่องเที่ยวต่างจังหวัดได้

“เราประเมิน spending ในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะหดตัวจากไตรมาสแรกแน่นอน แต่จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากฐานต่ำมาก เพราะปีที่แล้วถูกล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ คาดว่า spending จะกลับมาบวกอ่อน ๆ ได้จากแรงหนุนครึ่งปีหลัง”

โดยครึ่งปีหลังมีความคาดหวังเรื่องความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน ตามที่นายกรัฐมนตรีคาดการณ์ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 จะสามารถผลิต/นำเข้ามาฉีดให้ประชาชนได้ และช่วงเดือน ต.ค.จะมีวัคซีนลอตใหญ่อีก

ดังนั้นครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ และทำให้ควบคุมยอดผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ประกอบกับมีมาตรการใหม่ภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าระดับกลางถึงบน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าบัตรเครดิตโดยส่วนใหญ่ดังนั้นบรรยากาศจะคล้าย ๆ กับช่วงช้อปช่วยชาติและช้อปดีมีคืน

“เราประเมินธุรกิจบัตรเครดิตที่อยู่ในตลาดหุ้น ทั้ง บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) จะได้ประโยชน์จากมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพราะการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ มักจะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดย KTC น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะฐานลูกค้าเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและลูกค้าระดับกลางถึงบน เมื่อเทียบกับ AEONTS ที่มีฐานลูกค้าระดับกลางถึงล่างเป็นส่วนใหญ่”

โดยคาดการณ์กำไร KTC ทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 6,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไร AEONTS ทั้งปี (มี.ค. 2564-ก.พ. 2565) คาดว่าจะอยู่ที่ 4,386 ล้านบาท เติบโต 18.9% โดยยังไม่รวมรายได้จากบริษัทร่วมทุน (แรบบิทแคช) ที่ถือหุ้นสัดส่วน 18% เนื่องด้วย AEONTS ให้เหตุผลว่าการลงทุนในธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล เพราะอยากเรียนรู้ธุรกิจแพลตฟอร์มจากแรบบิทและบีทีเอสก่อน จึงประเมินช่วง 1-2 ปีนี้คงไม่มีนัยต่อกำไรของ AEONTS

“กำไรช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาของทั้ง 2 บริษัทถือว่าออกมาดี จากการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งสะท้อนโทนเดียวกัน คือ ความสบายใจเกี่ยวกับความกังวลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

แต่จะมีเรื่องแตกต่างกัน คือ KTC ยังเห็นการขยายตัวของสินเชื่อ และมี spending ที่ดีกว่าตลาด หรือติดลบน้อยกว่าตลาด ในขณะที่ AEONTS ยังทรง ๆ ตัว ฉะนั้น ภาพกำไรในช่วงไตรมาส 2 คงอ่อนตัวลงตามภาวะการล็อกดาวน์

เพราะค่าธรรมเนียมการรูดบัตรเครดิตจากร้านค้าต่าง ๆ หายไป ซึ่งมีนัยสำคัญ เพราะคิดเป็นรายได้เกือบ 20% ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ยังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นไตรมาส 2/2564 จะเห็นกำไรที่ลดลงจากไตรมาส 1/2564 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่ที่สุดของปี”

ทั้งนี้ แนะนำซื้อหุ้น AEONTS ราคาเป้าหมายสิ้นปีที่ 258 บาท และแนะนำขายหุ้นKTC โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีไว้ที่ 39 บาท เหตุผลเพราะ KTC มูลค่าหุ้น(valuation) อยู่ในขาที่แพงเกินไป ประกอบกับราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 9 เท่า การเติบโตกำไรประมาณ 20% ในขณะที่ AEONTS การเติบโตกำไรเกือบ ๆ 20% ใกล้เคียงกัน แต่ P/BV อยู่ที่ระดับ 3 เท่า

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์กำไร AEONTS ช่วงไตรมาส 1 (มี.ค.-พ.ค. 2564) ลดลงเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า เพราะถูกผลกระทบโควิดระลอกใหม่กดดันสินเชื่อชะลอตัว ส่งผลต่อต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย (credit cost) เพิ่มสูงขึ้น แต่ไตรมาส 2(มิ.ย.-ส.ค. 2564) สถานการณ์น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

โดยประเมินภาพรวมกำไรทั้งปี 2564/2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท เติบโต 14% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของยอดสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากแผนการกระจายวัคซีนและการควบคุมการระบาดโควิดที่ดีขึ้น ขณะที่ credit cost น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 6.5% จาก 7.1% เมื่อปีที่แล้ว

“ระยะสั้นธุรกิจอาจจะถูกผลกระทบจากโควิด-19 เพราะช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 คนอยู่บ้านไม่ได้ออกไปจับจ่ายใช้สอยกันมากนัก ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อชะลอตัว” นายเอนกพงศ์กล่าว