3 บริษัทเต็งชิงพอร์ตหนี้เสีย “ซิตี้แบงก์”-JMT โดดเด่น

หนี้บัตรเครดิต

โบรกฯประเมิน 3 บริษัทประมูลชิงพอร์ตหนี้เสีย “ซิตี้แบงก์” คาด “เจเอ็มที” กวาดยกพอร์ต 2 พันล้านบาท ชี้ที่ผ่านมาสู้ราคาได้ดี-เคยชนะซื้อพอร์ต “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)” มาแล้ว ฟากผู้บริหาร “เจเอ็มที”ยันพร้อมสู้ทุกเงื่อนไข

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าการประมูลซื้อพอร์ตหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของซิตี้แบงก์ประเทศไทย (Citibank) คาดว่าจะมีผู้แข่งขันที่มีศักยภาพทั้งหมด 3 ราย คือ 1.บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) 2.บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) และ 3.บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย (Chase) ที่ บมจ.อาร์เอส (RS) เข้าไปถือหุ้น เมื่อเร็ว ๆนี้

“เราประเมินว่า JMT จะชนะการประมูลในครั้งนี้ เหมือนตอนปี 2560 ที่สามารถชนะประมูลซื้อหนี้จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ไปได้ มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เนื่องจาก JMT เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาด สำหรับซื้อหนี้สินที่ไม่มีหลักประกันในไทย และมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในการกำหนดราคาประมูล

โดยรอบนี้ทางซิตี้แบงก์จะขาย NPL ออกมาทั้งลอต ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปซื้อต้องมีฐานทุนใหญ่พอสมควร และมีความเชี่ยวชาญที่จะซื้อมาบริหาร ถ้าประเมินจากราคาประมูลทรัพย์ส่วนใหญ่ JMT จะสู้ราคาได้ดี จึงมีโอกาสชนะการประมูลค่อนข้างสูง”

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมของซิตี้แบงก์อยู่ที่ 77,000 ล้านบาท ถ้าคำนวณจากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับระดับ NPL ทั้งระบบของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า NPL ratio จะอยู่ที่ 2-2.5%

ดังนั้นคาดว่าพอร์ต NPL ของซิตี้แบงก์จะอยู่ราว 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนซื้อ NPL ครั้งนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 150-200 ล้านบาท โดยนโยบาย JMT จะซื้อหนี้ราคาส่วนลด (discount) หรือแค่ 10% ของมูลค่า NPL ทั้งหมด

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งงบฯลงทุนซื้อหนี้มาบริหาร 10,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุน 3 ช่องทางหลัก คือ การออกหุ้นกู้ เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นแปลงวอร์แรนต์ และวงเงินกู้ธนาคารที่ยังไม่ได้ใช้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งดีลใหญ่ที่สนใจ คือ พอร์ตหนี้ NPL ของซิตี้แบงก์ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามการขายหนี้ที่ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างชัดเจน

“เราประเมินว่าพอร์ต NPL ของซิตี้แบงก์น่าจะสูงกว่าระดับ 1,500-2,000 ล้านบาท ตามที่โบรกฯประเมินไว้ เพราะเขาทำธุรกิจมานาน แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่ายอดหนี้จะมีมูลค่าสูงระดับ 5,000-6,000 ล้านบาท เหมือนตอนเราซื้อหนี้มาจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เราก็มีเงินเพียงพอ” นายสุทธิรักษ์กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปีนี้ทางซิตี้แบงก์น่าจะมีการประกาศรูปแบบการขายหนี้ออกมาแต่กระบวนการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งมีโมเดลที่จะทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการทำดิวดิลิเจนซ์ของซิตี้แบงก์อย่างไรก็ตาม ทาง JMT พร้อมทุกเงื่อนไขที่ออกมา โดยเวลาประมูลก็จะพิจารณาคุณภาพหนี้ทั้งหมดและอายุหนี้ที่ค้างอยู่เป็นสำคัญ