ดอลลาร์แข็งค่า จับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ คืนนี้ (12 พ.ค.)

หุ้น-ดอลลาร์ สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังอุปสงค์ตลาดแรงงานพุ่ง จับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ คืนนี้ (12 พ.ค.) ขณะที่ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/5) ที่ระดับ 31.17/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/5) ที่ระดับ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 8.12 ล้านตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน ธ.ค. 2543

นอกจากนี้นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.ของสหรัฐที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดนั้น ถือเป็นหลักฐานที่เน้นย้ำว่า เพราะเหตุใดเฟดจึงต้องอดทนรอคอยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานจะบรรลุเป้าหมายของเฟด

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 1,000,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือน เม.ย. สวนทางกับที่นักวิคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (12/5) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,983 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 34 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 60,000 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.16/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (12/5) ที่ระดับ 1.2148/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/5) ที่ระดับ 1.2146/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ถึงแม้ว่าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจยูโร (ZEW) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุน พุ่งขึ้นแตะ 84.4 จุดในเดือน พ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.0 จุด จากระดับ 70.7 จุดในเดือน เม.ย. โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2115-1.2149 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2130/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/5) ที่ระดับ 108.71/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/5) ที่ระดับ 108.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้แหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตรียมเข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงในเวที Shangri-La Dialogue ซึ่งจะจัดขึ้นที่สิงคโปร์ในวันที่ 4-5 มิ.ย.

โดยญี่ปุ่นต้องการแสวงหาร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดมุ่งสกัดอิทธิพลทางการทหารของจีนในภูมิภาคเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยนายซูงะได้วางแผนเข้าร่วมประชุม Shangri-La Dialogue ก่อนที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 จะเริ่มในวันที่ 11-13 มิ.ย. ที่คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยตนเอง หลังหยุดชะงักไปเพราะการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นอาจตัดสินใจไม่ไปร่วมการประชุม หากต้องมีการตัดสินใจขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อสกัดโควิด-19 ออกไปอีกจากกำหนดเดิมซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.68-108.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานผลผลิตอุตสาหกรรมแห่งสหภาพยุโรป (12/5), รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ (12/5), รายงานคลังสินค้าน้ำมันดิบของสหรัฐ (12/5), การประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ (13/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (13/5),

ดัชนีราคาผู้ผลิตเทียบเดือนต่อเดือนของสหรัฐ (13/5), การประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปีของสหรัฐ (14/5), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานของสหรัฐ (14/5), รายงานผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ (14/5) และ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (14/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ 0.50/0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ +1.25/2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ