ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี

ภาพประกอบข่าว เงินดอลลาร์
Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (12/5) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนเมษายน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.2%

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปีพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.2% โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานประจำเดือนเมษายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.3%

ทั้งนี้จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าว มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน และสำหรับการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเมษายนในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างมีความกังวลว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

สำหรับค่าเงินบาทยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์การพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากวันนี้ (13/5) กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 4,887 ราย และเสียชีวิต 32 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 2,052 ราย และติดเชื้อในทัณฑสถานหญิงกลางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จำนวน 2,835 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.27-31.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (13/5) ที่ระดับ 1.2084/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/5) ที่ระดับ 1.2133/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้เมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา (12/5) ได้มีการเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรปประจำเดือนมีนาคมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.20491.2107 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2066/69

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 109.56/58 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/5) ที่ระดับ 108.74/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าหลังจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่น ที่ยังพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.46-109.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนเมษายนของสหรัฐ, ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหรัฐ และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายนของสหรัฐ


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.60/+0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐและอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.75/+5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ