กรุงศรีฟินโนเวตควักงบ 100 ล้านดอลล์ ลงทุนสตาร์ตอัพปักธงธนาคารแม่สู่ดิจิทัลแบงก์

กรุงศรี-เงินบาท

กรุงศรี ฟินโนเวต อัดงบลงทุนเพิ่ม 100 ล้านดอลลาร์ มุ่งเฟ้นหาเทคสตาร์ตอัพ 4 กลุ่มผ่านกลยุทธ์ 3 เสาหลัก หนุนแบงก์กรุงศรีอยุธยาสู่ดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เพิ่มงบลงทุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ จากเม็ดเงินคงเหลืออยู่อีก 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินธุรกิจในปี 2564-2565 โดยเป้าหมายต้องการเป็น Corporate Venture Capital ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ เพื่อขับเคลื่อนธนาคารกรุงศรีอยุธยาไปสู่ดิจิทัลแบงก์เต็มตัว

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2564 จะมุ่งเสริมสร้าง Ecosystem ต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ตอัพเน้นใน 3-4 กลุ่ม ได้แก่ อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) อสังหาริมทรัพย์ (Living) Mobility และ Blockchain Decentralized เป็นหลัก โดยในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีโปรเจ็กต์ร่วมกับสตาร์ตอัพในกลุ่มดังกล่าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 120 โปรเจ็กต์ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างเยอะ

แซม ตันสกุล
แซม ตันสกุล

ขณะเดียวกัน การไปสู่เป้าหมายการเป็น Corporate Venture Capital ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ จะต้องประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.สร้างสตาร์ตอัพภายในองค์กรตัวเองที่มีความเชี่ยวชาญด้านฟินเทค เพื่อเป็น Venture Builder and Ecosystem 2.การทำงานร่วมกับพันธมิตรฟินเทคสตาร์ตอัพที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของกรุงศรีในเรื่องการลดต้นทุน การสร้างรายได้ การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล โดยในช่วงที่ผ่านมากว่า 4 ปีบริษัทได้ร่วมงานฟินเทคไปแล้วกว่า 100 โปรเจ็กต์

และ 3.การลงทุนต่อเนื่อง (Investment) โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ตอัพซีรี่ส์ A ขึ้นไปด้านฟินเทค อีคอมเมิร์ซ พรอพเทค และ AI ในไทยและอาเซียน ด้วยลงเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สำคัญจะต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้กับบริษัทได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนไปแล้วจำนวน 11 การลงทุน โดยเป็นการระดมทุนซ้ำอีก 6 การลงทุน และในปีนี้ตั้งเป้าลงทุนเพิ่มอีก 6-8 การลงทุน

“ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์คงใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี ภายหลังจากประเทศสิงคโปร์เริ่มได้ให้ใบอนุญาต (License) กับผู้ประกอบการไปแล้วจำนวน 4 ไลเซ่นส์ คาดว่าในเวลาอันใกล้น่าจะมาถึงไทย ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการศึกษาในเรื่องดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องเตรียมตัวกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น โดยลงทุนต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายระยะยาวในการร่วมผลักดันกรุงศรีสู่ดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว”