มาตรการสู้โควิด-19 “เกาถูกที่คัน”

คอลัมน์เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลคลอดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 หลายมาตรการ ทุกมาตรการถือว่า “เกาถูกที่คัน”

จุดคันที่ผมรู้สึกได้มี 6 จุด ได้แก่ จุดคันที่ 1 คือ เงินในกระเป๋าประชาชนคนทั่วไปลดลง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

จุดคันที่ 2 คือ พี่น้องผู้ใช้แรงงานอาจได้ค่าจ้างลดลงหรือไม่ได้เลย

จุดคันที่ 3 คือ ร้านค้ารายย่อยเปิดไม่ได้ หรือเปิดได้แต่นั่งกินไม่ได้ คนไม่เข้า/ไม่อยากออกจากบ้าน รายได้ลดลง และยังต้องแบกภาระค่าน้ำค่าไฟ

จุดคันที่ 4 คือ นักวิชาการกังวลว่าเงินจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ทันใจ ไม่ตรงจุด ไม่มากพอ

จุดคันที่ 5 คือ ประชาชนไม่มั่นใจว่าเงินในกระเป๋าจะพอเลี้ยงชีพไปได้นานแค่ไหน

จุดคันที่ 6 คือ ขาดเงินสำรองฉุกเฉินในครอบครัว เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หนี้พอกไปเรื่อย ๆ

มาตรการชุดนี้เกาถูกที่คันอย่างไร ผมแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ

ช่วงที่ 1 คือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน : อันนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการนำโครงการเราชนะและโครงการ ม33เรารักกัน มีกลุ่มเป้าหมายรวมกันประมาณ 40 ล้านคน มาเติมเงินให้อีก 2,000 บาท และยืดอายุการใช้เงินไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นการเกาจุดคันที่ 1 (ประชาชน/ผู้บริโภค) จุดคันที่ 2 (ผู้ใช้แรงงาน) จุดคันที่ 3 (ร้านค้า)

ทั้ง 2 โครงการจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวม ๆ กว่า 80,000 ล้านบาท ทันทีพร้อมกันทุกคน ทุกจังหวัด ไม่ผิดฝาผิดตัว กดปุ่มโอนปุ๊บ เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจปั๊บ นับใน GDP ทันที ขนาดของเงินที่ให้ต่อคนต่อเดือนก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพต่อคนต่อเดือนรายจังหวัด (อ้างอิงด้วยเส้นความยากจน) อันนี้เกาจุดคันที่ 4 (เงินลงเร็ว ตรงเป้า และมากพอ) และถ้าเงินก้อนนี้หมุนมากกว่า 1 รอบ คือ ใช้กันเป็นทอด ๆ GDP ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

อีกมาตรการที่เรียกร้องกันมาก คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สำหรับบิลเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน อันนี้ถือว่าตอบโจทย์ คือ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กในยามที่รายได้หดหาย ซึ่งเป็นการเกาจุดคันที่ 1 (ประชาชน/ผู้บริโภค) จุดคันที่ 2 (ผู้ใช้แรงงาน) จุดคันที่ 3 (ร้านค้า) พร้อม ๆ กัน

ช่วงที่ 2 คือ เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม (ครึ่งปีหลัง) : ที่กำลังเตรียมไว้มี 4 โครงการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในรายละเอียดอีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลาย หรือเมื่อมีจังหวะเวลาเหมาะสม ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มเปราะบาง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แต่ 1 คนจะมีสิทธิเข้าได้ 1 โครงการเท่านั้น

ซึ่ง 3 โครงการแรก สามารถทำได้ทันที แต่อาจจะพิจารณารายละเอียด เช่น จำนวนคน วงเงิน กรอบเวลา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินอีกจำนวนหนึ่งอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันทีเช่นกัน อันนี้เกาจุดคันที่ 1 (ประชาชน/ผู้บริโภค) จุดคันที่ 3 (ร้านค้า) และจุดคันที่ 4 (เงินลงเร็ว ตรงเป้า และมากพอ)

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง คือ ความต่อเนื่องของเม็ดเงินที่เติมเข้ากระเป๋าผู้บริโภค หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ความต่อเนื่องของการเติมเงินต้องมาก่อน นี่คือ เกาจุดคันที่ 5 (ความต่อเนื่อง)

ที่สำคัญ โครงการต่าง ๆ ข้างต้น ไม่ได้ช่วยเฉพาะฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการ ร้านค้าตัวเล็ก ๆ ข้างทาง ปากซอย ก็ได้ประโยชน์จากการเข้าโครงการต่าง ๆ ด้วย

เรียกว่า ถ้าคนอยู่ได้ ร้านค้าก็อยู่ได้ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 1 ล้านร้านค้าที่เข้าร่วม

ทั้งร้านที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เราชนะ รวมไปถึงรถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ และถ้านับรวมห้าง ร้าน ที่ได้ประโยชน์จากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เข้าไปด้วย ก็ครอบคลุมมากขึ้นไปอีก

นอกจากมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการทางการเงินที่สำคัญอีก 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 10,000 บาท ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย

และมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งถือเป็นการเกาจุดคันที่ 6 (เงินฉุกเฉิน เงินทุน หนี้) แบบเต็ม ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาชุดนี้ถือว่า “เกาถูกที่คันทั้งหมด” ชาวบ้านได้ แรงงานได้ ร้านค้าได้ เงินลงเร็ว ต่อเนื่อง และมีแหล่งเงินฉุกเฉิน ครอบคลุมประชากรกว่า 40 ล้านคน ครอบคลุมร้านค้าตัวเล็กกว่า 1 ล้านร้านค้า

ซึ่งเม็ดเงินที่รัฐบาลกำลังจะทยอยอัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจจะช่วยให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีขึ้นแน่นอน ภายใต้สมมุติฐานว่า “เอาอยู่” นอกจากประโยชน์ในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ผมมองว่าประโยชน์มหาศาลที่รัฐบาลจะได้อีกด้านหนึ่ง คือ ข้อมูลจากโครงการต่าง ๆ เหล่านั้น ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และต่อยอด
นโยบายในอนาคตได้