ธปท.เพิ่มออปชั่นพยุงลูกหนี้รายย่อย 4 กลุ่มถึงสิ้นปีนี้

ธปท.

แบงก์ชาติคลอดมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย เฟส 3 มีผล 17 พ.ค.-31 ธ.ค. 2564 เพิ่มทางเลือกช่วยลูกหนี้ 4 ประเภทสินเชื่อ เผยลูกหนี้เช่าซื้อ/จำนำทะเบียน “ผ่อนไม่ไหว-คืนรถได้” ขณะที่ลูกหนี้ “บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล” ได้ยืดเทอมชำระ-หั่นดอกเบี้ยลง ส่วน “สินเชื่อบ้าน” เพิ่มพักเงินต้นจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน-ทยอยชำระเป็นขั้นบันได

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และสมาคม-ชมรมอีก 8 แห่ง ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ครอบคลุม 4 ประเภทสินเชื่อ คือ

สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.-31 ธ.ค. 2564 หลังจากมาตรการระยะที่ 2 จะครบกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้

“มาตรการใหม่จะมีทางเลือกให้ลูกหนี้มากขึ้น และตอบโจทย์ตรงจุด และทันต่อสถานการณ์โควิด สามารถช่วยลดภาระหนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีวิธีปฏิบัติได้ชัดเจน” นายรณดลกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ จนถึง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 มีวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อยราว 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการทั้งหมด ในจำนวนดังกล่าวแยกเป็นสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตราว 1.1 ล้านล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย 6 แสนล้านบาท และสินเชื่อเช่าซื้อ 2 แสนล้านบาท

โดยภายหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรงต่อเนื่องและขยายวงกว้าง พบว่ามีลูกหนี้เข้าขอรับความช่วยเหลือในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 แล้ว 1 แสนราย วงเงิน 4 ล้านบาท ซึ่งพบว่าอัตราการค้างชำระหนี้เกิน 1 วัน มีสัดส่วนกว่า 10% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย

นางสาววิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวว่า มาตรการสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (revolving & installment loan) จะเป็นการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้

ขณะที่ลูกหนี้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะเพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด โดยลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จะให้มีทางเลือกให้สามารถคืนรถได้ โดยเมื่อผู้ให้บริการทางการเงินนำรถไปขายทอดตลาดแล้ว หากมีภาระหนี้คงเหลือจากการประมูลขาย ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ได้

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (effective interest rate : EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิมและปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ รวมถึงลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก็ให้มีทางเลือกในการคืนรถได้ด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อผู้ให้บริการทางการเงินนำรถไปขายทอดตลาดแล้ว หากมีภาระหนี้คงเหลือจากการประมูลขาย ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ได้

และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน จะมีทางเลือกช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่ม ด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

นอกจากนี้ยังมีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 และจะเพิ่มการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อในระยะต่อไป

ทั้งนี้ คุณสมบัติลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการระยะที่ 3 ต้องเป็นลูกหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันที่ 1 มี.ค. 2563

“การช่วยเหลือในระยะที่ 3 จะดูตามความรุนแรงและเอาสถานะลูกหนี้เป็นตัวตั้ง และสิ่งที่เราเพิ่มขึ้นมากรณีที่ลูกหนี้ชำระไม่ไหวสามารถคืนรถได้ และยอดหนี้คงเหลือให้ผู้ประกอบการพิจารณาช่วยลดภาระหนี้ลูกหนี้ได้อย่างไร


หรือการเพิ่มทางเลือกในการรวมหนี้สินเชื่อบ้าน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลงเหลือ MRR เฉลี่ย 6% โดยตอนนี้ยังสามารถทำได้ภายในแบงก์และบริษัทลูกก่อน เพื่อความง่ายจากที่ผ่านมามีลูกหนี้รวมหนี้แล้ว 2-3 พันราย วงเงิน 4,000 ล้านบาท” นางสาววิเรขากล่าว