เงินบาทอ่อนค่า หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศพุ่งสูงขึ้น

เงินบาทขยับกรอบแคบ
ภาพจาก ภาพโดย 41330 จาก Pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (10/5) ที่ระดับ 31.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/5) ที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าที่คาดไว้ว่า อาจเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือน เม.ย. สวนทางกับที่คาดไว้ว่า อาจลดลงสู่ระดับ 5.8% ทำให้ตลาดลดการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้น หลังสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 8.12 ล้านตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน ธ.ค. 2543

ด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติมาตรการสร้างงานและช่วยเหลือครัวเรือนในสหรัฐวงเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลสหรัฐออกร่างกฎหมาย American Jobs Plan วงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และร่างกฎหมาย American Families Plan วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาครัวเรือนสหรัฐจากผลกระทบของโควิด-19

ต่อมาในคืนวันพุธ (12/5 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% โดยการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าและทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้น

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.654% ช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ด้านนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือน เม.ย. จะไม่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรองประธานเฟดเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น และเฟดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือน เม.ย. 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.5 เทียบกับระดับ 47.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาคและทุกอาชีพ

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ระดับ 48.2 ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นมาก และยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.05-31.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (10/5) ที่ระดับ 1.2160/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (7/5) ที่ระดับ 1.2070/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากสหรัฐประกาศตัวเลขในตลาดแรงงานเป็นต่ำกว่าคาดการณ์มาก ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในช่วงสัปดาห์ สถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนพุ่งขึ้นในเดือน พ.ค. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2561 ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนพุ่งขึ้นแตะ 84.4 จุดในเดือน พ.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 72.0 จุด จากระดับ 70.7 จุดในเดือน เม.ย. ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) จะขยายตัว 4.2% ในปี 2564 และ 4.4 ในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้า เมื่อเดือน ก.พ. ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของ EU จะขยายตัว 3.7% ในปี 2564 และขยายตัว 3.9% ในปี 2565 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2050-1.2182 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 1.2112/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (10/5) ที่ระดับ 108.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/5) ที่ระดับ 109.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยในวันอังคาร (11/5) กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 6.2% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 18 เดือน เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาใช้ภาวฉุกเฉินและความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ส่งผลให้การคาดการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่จะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ภายใต้ความกดดัน ต่อมาในวันพฤหัสบดี (13/5)

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ให้คำมั่นในระหว่างการแถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า BOJ จะยังคงใช้มาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับเตือนว่า ความเสี่ยงที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจนั้นยังคงมีอยู่ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องขยายเวลาการใช้ภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 108.35-109.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 109.32/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ