เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1-ส่งออกเม.ย.

ส่งออก-ท่าเรือ

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงแรงตามปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ข้อมูลจีดีพีไตรมาสที่ 1/64 และข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าลง หลังขยับแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ รับข่าวตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่เพิ่มน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทั้งนี้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงกลางสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาด

และทำให้ตลาดกังวลว่า สัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดอาจจะมาเร็วกว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายหลังรองประธานเฟดออกมาย้ำสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และมองว่า ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว

ในวันศุกร์ (14 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.36 เทียบกับระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีไตรมาสที่ 1/64 และข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และบันทึกการประชุมเฟด (27-28 เม.ย.)

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย. อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,549.48 จุด ลดลง 2.24% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 114,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.98% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.50% มาปิดที่ 475.08 จุด

หุ้นไทยร่วงลงตลอดสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติม อาทิ สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศที่ยังน่ากังวล การปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี MSCI ตลอดจนการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลก

เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยปัจจัยลบข้างต้นได้กระตุ้นแรงขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มเทคโนโลยี

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของไทย สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกประชุมเฟด ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนเม.ย. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค.(เบื้องต้น)


ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 และดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค.(เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน