ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขค้าปลีกต่ำกว่าคาด

ภาพประกอบข่าว เงิน-ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขค้าปลีกต่ำกว่าคาด  ขณะที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี’64 เหลือขยายตัว 1.5-2.5% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 31.33/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 31.34/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 1.0% หลังจากพุ่งขึ้น 10.7% ในเดือน มี.ค.

ขณะที่ยอดค้าปลีกพื้นฐานซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ร่วงลง 1.5% ในเดือน เม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 7.6% ในเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 82.8 ในเดือน พ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.4 หลังจากแตะระดับ 88.3 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐในเดือน มี.ค. 2563

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (17/5) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 9,635 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย โดยตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นมาจากผู้ติดเชื้อในเรือนจำกว่า 6,853 ราย

นอกจากนี้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/64 ลดลง 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.2% ในไตรมาส 4/63 ทั้งนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงมาเป็นขยายตัว 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 2.5-3.5%

โดยมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.35-31.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดเผยเช้านี้ (17/5) ที่ระดับ 1.2149/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 1.2140/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของค่าเงินดลลาร์สหรัฐ

โดยนายฌอง กัสแตกซ์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ฝรั่งเศสได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดสแรกให้กับประชาชนแล้ว 20 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะอนุญาตให้ธุรกิจและร้านอาหาร ตลอดจนงานอีเวนต์ด้านวัฒนธรรมกลับมาเปิดทำการอีก

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2126-1.2160 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2162/64

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 109.43/44 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 109.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเปิดเผยในวันนี้ (17/5) ว่าราคาค้าส่งเดือน เม.ย. ปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 6 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าเงินเยนยังถูกกดดันจากยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยญี่ปุ่นได้เริ่มใช้มาตรการคุมเข้มโควิดใน 6 จังหวัด และยังได้ขยายระยะเวลาในการประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มเติมใน 3 พื้นที่ออกไปอีก ซึ่งได้แก่จังหวัดฮอกไกโด โอกายาม่า และฮิโรชิม่า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.05-109.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2021 ของญี่ปุ่น (18/5), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2021 ของยุโรป (18/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของอังกฤษ (19/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของยุโรป (19/5), ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/5), ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เม.ย. ของเยอรมนี (20/5),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/5), รายงานการประชุม FOMC Meeting Minues (20/5), ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. ของอังกฤษ (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของยุโรป (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ (21/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.80/+4.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ