ส.ประกันชีวิตเจรจาขอเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ปี’65

ส.ประกันชีวิตไทย ชี้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9-IFRS17 ฉุดธุรกิจประกันมีภาระรับรู้ใน “งบบัญชี” ทันทีที่ลูกค้าซื้อกรมธรรม์วันแรกจนสิ้นสุดสัญญา ชี้โปรดักต์ที่กระทบ “การันตีเงินฝาก-เงินคืน” พร้อมเจรจาสภาวิชาชีพบัญชี ขอเลื่อนใช้ 3 ปีเป็นปี 2565

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (เรื่องเครื่องมือทางการเงิน) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (เรื่องของสัญญาประกันภัย) หรือ “มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9-IFRS17” ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ว่า จะมีผลกระทบต่อการจัดประเภทสินทรัพย์และวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ หรือเงินลงทุนประเภทต่าง ๆ รวมถึงการแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินธุรกิจประกันชีวิต ทำให้นักบัญชีจะต้องขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการลงทุนและคณิตศาสตร์ประกันภัย รวมทั้งต้องเรียนรู้เพิ่มมุมมองความเที่ยงธรรมในส่วนของผลประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือด้านอื่น ๆ

“เนื่องจากมาตรฐานบัญชีใหม่โดยเฉพาะ IFRS17 จะทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องแสดงผลประกอบการของธุรกิจ เป็นกำไรหรือขาดทุนทันทีตั้งแต่วันแรก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ ต้องตระหนักว่าโปรดักต์อะไรที่ขายแล้วขาดทุนไม่ควรจะนำมาขาย” นางนุสรากล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสภาวิชาชีพบัญชี ได้มีการหารือจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันทำการศึกษามาตรฐานกลางทั้งในเชิงหลักการ การตีความและแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ในการวางแผนให้บริษัทสมาชิกของสมาคมสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

นางนุสรากล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังศึกษาโมเดลในยุโรประหว่าง “Overlay Approach” และ “Deferred Approach” ว่าควรจะปรับใช้อย่างไร เนื่องจาก IFRS9 เป็นการลงบัญชีสินทรัพย์ ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 ในขณะที่ IFRS17 เป็นการประเมินหนี้สินของสัญญาประกันภัย แต่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 65 ซึ่งจากกรณีดังกล่าวหากไม่บังคับใช้ในทิศทางเดียวกัน งบการเงินจะไม่สามารถเปรียบเทียบได้ จึงอาจเกิดการเหลื่อมล้ำการใช้ระบบมาตรฐานบัญชีไม่สัมพันธ์กัน (accounting mismatch)

“สมาคมจึงขออนุญาตสภาวิชาชีพบัญชีขอเริ่มบังคับใช้ IFRS9 ออกไปให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับ IFRS17 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้” นางนุสรากล่าว

แหล่งข่าวในสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการหารือกับสภาวิชาชีพบัญชีมีแนวโน้มจะได้รับการยกเว้นเฉพาะธุรกิจประกันภัยให้เริ่มบังคับใช้ IFRS9 ออกไปอีก 3 ปีข้างหน้าพร้อมกับ IFRS17 ในปี 2565 ขณะที่ธุรกิจการเงินอื่น ๆ บังคับใช้ตามกำหนดช่วงเวลาเดิม โดยแบบประกันชีวิตที่จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มการันตีผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการันตีเงินฝาก เงินคืน เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ จะมีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด และแบบประกันความคุ้มครองจะมีความเสี่ยงต่ออัตรามรณะ เนื่องจากแต่ละกรมธรรม์ที่คุ้มครองลูกค้าจะต้องตั้งสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นหนี้สินในแต่ละปีด้วย “สมมุติว่าตั้งสำรองมากกำไรก็จะน้อย แต่หากตั้งสำรองน้อยกำไรก็จะมาก มาตรฐานบัญชีใหม่จึงบังคับให้สะท้อนผลประกอบการหรือผลกำไรทั้งหมดในอนาคตตั้งแต่วันแรกที่เงินของลูกค้าเข้าบริษัท ก็จะคำนวณจนถึงวันสิ้นสุดกรมธรรม์ของแต่ละฉบับ” แหล่งข่าวกล่าว