คุยกับ “อธิศ รุจิรวัฒน์” โจทย์ใหญ่ในวิกฤต ธุรกิจบัตรเครดิต

ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจถูกจำกัด คนไปเดินห้างสรรพสินค้าไม่สะดวก ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรก็ต้องชะลอลงไปเป็นเงาตามตัว

ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ยังต้องช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของทางการด้วย ทำให้โจทย์การดำเนินธุรกิจช่วงนี้ค่อนข้างท้าทายอยู่มาก

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อธิศ รุจิรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ดเซอร์วิสเซส จำกัด (GCS) ที่เพิ่งก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โจทย์ใหญ่พาลูกค้าฝ่าวิกฤต

โดย “อธิศ” บอกว่า โจทย์ใหญ่ของธุรกิจตอนนี้จะเป็นมิติการช่วยเหลือลูกค้าและผู้บริโภคมากกว่าโจทย์ทางธุรกิจ ซึ่งชมรมจะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเสนอความคิดเห็นในเรื่องการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการและสิ่งที่ผู้กำกับจะทำ

โดยยอมรับว่าโควิด-19 กระทบภาระหนี้ทำให้คนตกงานจำนวนมาก ซึ่ง ธปท.มีความเป็นห่วงและต้องการลดหย่อนภาระหนี้ให้กับผู้บริโภค ซึ่งมาตรการที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ถือว่าช่วยได้พอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการrefinance หรือปรับโครงสร้างหนี้ (debt relief) สะท้อนจากคุณภาพหนี้แม้ว่าแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) จะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท.ช่วยชะลอการไหลของเอ็นพีแอลของแต่ละสถาบันได้จริง

“แนวโน้มหนี้เสียทุกคนคงเพิ่มขึ้นเพราะยอดใช้จ่ายลดลง ทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมธุรกิจปีนี้ยังคงเหนื่อยเหมือนทุกปี เพราะอยู่ในมิติที่มีแต่ความไม่แน่นอน แต่คิดว่า คงไม่ยากไปกว่าปีที่แล้ว และก็คงไม่ง่ายไปกว่าปีที่แล้วเช่นกัน”

ไวรัสระลอก 3 ฉุดยอดรูดบัตร

“อธิศ” กล่าวว่า หากย้อนกลับไปก่อนจะมีโควิด-19 ระลอก 3 เดิมมองว่าธุรกิจน่าจะดีขึ้น แต่พอมีระลอก 3 แม้ว่าครั้งนี้จะไม่มีการล็อกดาวน์แบบเต็มที่ แต่มีความเป็นห่วงว่าจะรุนแรงกว่าปีก่อนสอดคล้องกับ ธปท.มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)จะปรับลดลง โดยคาดว่าหากสถานการณ์โควิดไม่ดีขึ้นในไตรมาส 2 และลากยาวไปไตรมาส 3 โอกาสที่จีดีพีจะไม่โตหรือติดลบมีสูง แต่ถ้าเกิดดีขึ้นตามลำดับอาจจะบวก แต่บวกไม่มาก

โดยธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาส 1 ติดลบเกือบทุกค่าย ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีก่อน แต่หากดูในเดือนเมษายน-มิถุนายน เทียบกับปีก่อนที่มีล็อกดาวน์ โอกาสที่จะไม่เติบโตก็มีอยู่

เพราะต้องดูว่าจะมีคลายล็อกดาวน์หรือไม่จากจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง จากวันนี้ถึงสิ้นไตรมาส 2 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลงโดยตอนนี้ยังมองยากเพราะภาพเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว

“ตอนนี้ทุกอย่างอยู่บนเส้นด้ายคาดเดายาก เพราะอยู่กับเราคอนโทรลจำนวนผู้ติดเชื้อได้แค่ไหน และคืนความมั่นใจให้ผู้บริโภคเร็วแค่ไหน เพราะบัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายตราบใดผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย ไตรมาส 1 ติดลบแน่นอน

แต่ไตรมาส 2 ด้วยความที่มีแอ่งนรกปีที่แล้ว ทำให้แอบหวังอยู่ว่าปลายเดือน มิ.ย.จะเริ่มกลับมาได้เพราะเชื่อว่าไม่น่าจะแย่เท่าปีก่อน”

ตลาดบนยังมีกำลังซื้อ

“อธิศ” กล่าวอีกว่า หากดูหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) จะตกทุกกลุ่มแต่กลุ่มบนหรือกลุ่มพรีเมี่ยมยังมีศักยภาพ แม้หมวดการเดินทางต่างประเทศหายไปโชคดีที่ GCS หันมาทำโปรโมชั่นภายในประเทศแทนการท่องเที่ยว ทำให้บัตรมีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี เพราะมีศักยภาพการใช้จ่าย แต่ไม่มีที่ให้ใช้จ่าย ทำให้ในช่วงที่เดินทางไม่ได้ลูกค้ากลุ่มนี้หันมาช็อปปิ้งซื้อสินค้าแบรนด์เนม ลักเซอรี่ และประกันมากขึ้น

โดยดูยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร The Black เฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อบัตรต่อใบ บัตร Black 1 แสนบาท และบัตร Luxe เฉลี่ย 5 หมื่นบาทขณะที่สัดส่วนหมวดท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มนี้อยู่ที่ 10% ถือว่าค่อนข้างมาก

และอีกกลุ่มที่เติบโตสูง คือ ออนไลน์ ฟู้ดดีลิเวอรี่ และหมวดก่อสร้างตกแต่งบ้าน หากดูสัดส่วนใช้จ่ายหมวดออนไลน์อยู่ที่ราว 10% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด เติบโต 2 เท่าจากก่อนโควิด

แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถชดเชยยอดใช้จ่ายแบบ face to face ที่หายไปเกือบหมดอย่างไรก็ดี จากการปรับกลยุทธ์รับมือโควิดรอบก่อนโดยเร่งเสริมออนไลน์เพื่อทดแทนออฟไลน์ โดยทำโปรโมชั่นในเครือเซ็นทรัลมากขึ้น เช่น JD.com ทำให้ในปีนี้หนุนยอดใช้จ่ายใน 3 หมวดหลักค่อนข้างเสถียร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท้าทายมากกว่ายอดใช้จ่าย คือ การเพิ่มบัตรใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทหาบัตรใหม่ผ่านช่องทางเซ็นทรัล กรุ๊ป โรบินสัน ซึ่งตอนนี้คนไม่เดินห้างทำให้การหาบัตรใหม่หายไปเลย และการสมัครผ่านออนไลน์ยังไม่ 100% จึงไม่สามารถปิดแกปได้ แม้ว่าจะพยายามไปออนไลน์มากขึ้น

โดย ณ เดือน มี.ค. 2564 ฐานบัตร GCS อยู่ที่ 916,000 ใบ และยอดใช้จ่ายผ่านบัตร18,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 5% จากปีก่อน

“ความท้าทายอยู่ที่การหาบัตรใหม่มากกว่าหายอดใช้จ่าย เพราะยอดการใช้จ่ายไม่ได้ลด แต่จำนวนธุรกรรมวงเงินน้อยลงเพราะซื้อออนไลน์ ซึ่งโชคดีเราผ่านมรสุมแล้วครั้งหนึ่ง และรู้ว่าหมวดไหนกระทบน้อยที่สุดในสถานการณ์นี้ และเราไม่เคย turn off เรื่องของออนไลน์ ทำให้เรายังโตได้”

“โควิด” เร่งสังคมไร้เงินสด

อย่างไรก็ตาม “อธิศ” มองว่า การระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจบัตรเครดิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ใน 2 ด้านที่สำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายผ่านบัตรจะเป็น omnichannel (ช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้าที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์) มากขึ้น ใช้เวลา 2-3 ปี

สะท้อนจากบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน ที่เดิมธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะอยู่ในส่วนของห้างเซ็นทรัล เนื่องจาก GCS เป็นบัตรร่วม (cobrand) แต่หลังจากเกิดโควิดก็เริ่มเห็นพฤติกรรมของธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกห้างเซ็นทรัลมากขึ้น

โดยเฉพาะในส่วนของออนไลน์ที่เติบโตค่อนข้างสูงในปี 2562 สอดคล้องกับพันธมิตรเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่พยายามผลักดันให้เกิดการขายแบบ omnichannel ผ่านการออกแอปพลิเคชั่น

และ 2.สังคมไร้เงินสด (cashless society) เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันและรัฐบาลที่พยายามผลักดัน แต่จะเห็นว่าโควิดเข้ามาช่วยหนุนตรงนี้ให้เกิดเร็วขึ้น

เพราะคนไม่อยากจับเงินสดจึงเกิดระบบการชำระเงินแบบใหม่ ๆ ขึ้น และเติบโตเร็ว เช่น QR code, กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) หรือบัตรแบบสัมผัส (contactless) เพราะฉะนั้น มองว่า 2 ด้านนี้จะมาเร็วขึ้นกว่าเดิมและมาแน่นอน