สถานีลงทุน : It’s time to invest in China Healthcare Sector

คอลัมน์ สถานีลงทุน
วัทธิกร กิจจาวิจิตร 
ธนาคารทิสโก้

อุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนนับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจีนมีแนวคิดมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้การเข้าถึงของประชาชนสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันประชากรมีรายได้ต่อหัวที่เพิ่มสูงขึ้น มีความต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมการแพทย์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนในปี 2020 พุ่งขึ้นแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก เติบโตเฉลี่ยปีละ 11% CAGR ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับสหรัฐที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 4% CAGR และหากย้อนกลับไปในปี 2011 มูลค่าตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนนั้นอยู่เพียงแค่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก้าวสำคัญที่ทำให้จีนขึ้นเป็นผู้เล่นคนสำคัญของโลกทางด้านการแพทย์ มาจากการเติบโตของอุตสาหกรรม clinical research services ซึ่งเป็นกระบวนการคิดค้น วิจัยและพัฒนา ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาและวัคซีนก่อนที่จะนำไปขออนุมัติ และดำเนินการผลิตเข้าสู่ตลาด โดยเรียกบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ว่า contract research organization (CROs)

สาเหตุที่ธุรกิจประเภท CROs เติบโตสูงเป็นผลมาจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเพื่อลดการพึ่งพิงบริการและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ มีการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทข้ามชาติและบริษัทในประเทศ

การเติบโตของธุรกิจประเภท CROs ในจีนนอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ยังมาจากข้อจำกัดด้านการวิจัยและพัฒนาที่ต้องใช้ระยะเวลานานหากไม่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงใช้เงินลงทุนสูง บริษัทยาจึงมักมองหาบริษัท CROs ที่มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการวิจัยและพัฒนายาของจีนยังอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่ 30-40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับการพัฒนายาในสหรัฐที่มีต้นทุนสูงถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธุรกิจ CROs ในจีนมีการเติบโตกว่า 30% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และมูลค่าตลาดของ CROs ในจีน ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐ และยุโรป

ตัวอย่างบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน platform สำหรับการวิจัยและพัฒนาตัวยาในจีน ที่มีการเติบโตจากทั้งในประเทศและทำการร่วมมือกับต่างชาติ คือ WuXi Biologics มีส่วนแบ่งตลาดอันดับที่ 3 ของโลก (5%) บริษัทมีรายได้ในปี 2020 ทั้งสิ้น 859 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 40% และมีรายได้เฉลี่ยเติบโตปีละประมาณ 58% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม clinical research services จีนยังมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย อย่างวิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เนื่องจากอัตราการเป็นโรคมะเร็งของประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะ และมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งมะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้คิดเป็นกว่า 55% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในจีน ทำให้มีการคาดการณ์ยอดขายยารักษามะเร็งประเภท immunotherapy อย่าง PD-1 และ PD-L1 จะเติบโตถึงปีละ 36% CAGR จนถึงปี 2025

ปัจจุบันบริษัทที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้ PD-1 และ PD-L1 ในจีน มีเพียงแค่ 4 บริษัทเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ Jiangsu Hengrui Medicine และ Beigene ซึ่งมีแผนก R&D ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในจีนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้วัคซีน Sinopharm จากจีนเป็นหนึ่งในวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกัน COVID-19 นั้น อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนภายในจีนยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ category-1 และ category-2

โดยมีข้อแตกต่างคือ category-1 จะเป็นการจัดหาวัคซีนฟรีให้กับประชาชน เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โดยมีผู้เล่นหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% คือ รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ category-2 จะเป็นการจัดหาวัคซีนที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน

ส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายวัคซีนประเภท category-2 จะเป็นบริษัทเอกชนที่เสริมเข้ามาจากรัฐวิสาหกิจ เช่น Walvax, Sinovac และ Sino Biopharma ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทเหล่านี้ก็เป็นผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 ที่กำลังแจกจ่ายไปทั่วโลก

โดย CLSA คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของวัคซีนในจีนจะเติบโตปีละ 11.7% CAGR ไปจนถึงปี 2030 จากแนวโน้มการขาดแคลนวัคซีนในจีน โดยเฉพาะวัคซีนรักษาโรคปอดบวม ทั้งนี้มูลค่าตลาดที่ประเมินไว้ยังไม่ได้คำนึงถึงยอดขายของวัคซีน COVID-19

หากประเมินภาพรวมของการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์จีนพบว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนในระยะยาว ด้วยการอัดฉีดงบประมาณการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐ เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตไปพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น หากประเมิน valuation ด้วย forward P/E จะพบว่า MSCI China Healthcare มีการซื้อ-ขายกันที่ 56 เท่า เทียบกับ MSCI China ที่ระดับ 15 เท่า ซึ่งถือว่ามี valuation ที่ไม่ถูกกว่าหุ้นจีนในภาพรวม

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีน ในปี 2021 นั้นสูงกว่า 47% มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมด อุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนหลายบริษัทนอกจากจะสามารถสร้างผลกำไร (quality) ยังมีการเติบโตที่สูง (growth) ไปพร้อมกับ megatrends ที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลก อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวจากรัฐบาล เนื่องจากถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน