EXIM BANK รับลูก รมว.คลัง อุ้มธุรกิจสายการบินถึงสิ้นปี’64 เน้นดูแลเฉพาะราย ทั้ง “ให้สินเชื่อ-ลดดอกเบี้ย-ยืดเวลาชำระหนี้” พร้อมออกสารพัดมาตรการดูแลผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาล “พักหนี้” ลูกค้าธุรกิจในเมียนมา 12 เดือน รวมถึงออกมาตรการขานรับ “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้” ตามแนวทาง ธปท.
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้รับนโยบายจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้ดูแลธุรกิจสายการบินในประเทศ ตามความสามารถในแต่ละสายการบิน
โดยในมุมการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)นั้น ธนาคารคงไม่ได้ทำในภาพใหญ่ แต่จะพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าเฉพาะรายไป เนื่องจากธุรกิจสายการบินแต่ละแห่งมีปัญหาแตกต่างกัน ฉะนั้น หากออกเป็นซอฟต์โลนมาดูแลครอบคลุมทุกสายการบินคงจะทำไม่ได้
“ธุรกิจสายการบินในประเทศแต่ละแห่งมีทุนจากในประเทศ และต่างประเทศแตกต่างกัน เราจึงตัดปัญหาด้วยการเข้าไปดูแลเป็นรายกรณีไป ซึ่งแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน เพราะบางสายการบินต้องการแค่ให้เข้าไปดูแล
เช่น บางรายต้องการให้ตีทรัพย์ชำระหนี้ บางรายต้องการให้ดูแลเพื่อรักษาการจ้างงาน เราก็เข้าไปดูว่า ในมุมธุรกิจมีอาการเจ็บป่วยมากน้อยแค่ไหนจากนั้นก็เข้าไปช่วยตามสภาพ” นายรักษ์กล่าว
โดยสายการบินที่มีธุรกรรมอยู่กับ EXIM BANK อยู่แล้ว ธนาคารก็ได้มีการให้สภาพคล่องเพิ่มเติม ทั้งให้สินเชื่อ ปรับลดดอกเบี้ย และขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งวงเงินในการช่วยเหลือไม่ได้มาก แต่เป็นการประคองวงเงินหมุนเวียนให้กับธุรกิจสายการบิน
เนื่องจากขณะนี้การดูแลธุรกิจสายการบินไม่ใช่การให้วงเงินไปซื้อเครื่องบิน แต่เป็นการบริหารองค์กร การรักษาการจ้างงานดูแลเรื่องรายจ่ายประจำเดือนที่เป็นสภาพคล่องของธุรกิจมากกว่า ซึ่งเดิมคาดว่าจะช่วยประคองจนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ก่อนเปิดน่านฟ้า แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายก็น่าจะดูแลไปทั้งปี 2564
นายรักษ์กล่าวว่า การช่วยเหลือธุรกิจสายการบินครั้งนี้ไม่กระทบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4% คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เป็นระดับที่บริหารจัดการได้
โดยที่ผ่านมา EXIM BANK มีการบริหารจัดการด้วยการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า กรณีที่จ่ายหนี้ไม่ไหว ระหว่างนั้นธนาคารก็จะมาพิจารณาว่า ลูกค้าต้องการเติมทุนด้วยหรือไม่ หากมีความต้องการก็จะอัดสภาพคล่องเข้าไปให้ลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากการช่วยเหลือสายการบินแล้ว EXIM BANK ยังมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้กลุ่มลูกค้าที่มีธุรกิจในเมียนมา ระยะเวลา 12 เดือน
และยังมีมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง EXIM BANK รับมาทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี คาดว่ามีลูกค้าเข้าร่วมวงเงินรวม 5,000-6,000 ล้านบาทและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้