เงินบาทผันผวน หลังผู้ติดเชื้อโควิดยังสูง จับตารายงานการประชุมเฟด

คุมโควิดระบาด-เงินบาท

เงินบาทผันผวน หลังผู้ติดเชื้อโควิดยังสูง ขณะที่ตลาดจับตารายงานการประชุมฟด คาดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป แม้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/5) ที่ระดับ 31.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/5) ที่ระดับ 31.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยวันนี้ค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนตลอดทั้งวัน หลังความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการเร่งตัวของเงินเฟ้อของสหรัฐ กดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบเงินสกุลหลักนั้นเป็นไปในทิศทางอ่อนค่า หลังจากนักลงทุนมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปแม้เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นสูงก็ตาม

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของเขตนิวยอร์กลดลงอยู่ที่ระดับ 24.30 สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 23.90 ขณะเดียวกันสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านของสหรัฐที่ระดับ 83 ตามคาด

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งล่าสุดประจำวันที่ 27-28 เม.ย. ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันพุธ (19/5) ตามเวลาในสหรัฐ หรือในวันพฤหัสบดี (20/5) ตามเวลาไทย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศและประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเคลื่อนไหวของตลาดในระยะนี้

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.40-31.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/5) ที่ระดับ 1.2165/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/5) ที่ระดับ 1.2162/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังสถาบันสถิติแห่งชาติของอิตาลีได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของอิตาลีแห่งสหภาพยุโรปที่ระดับ 5.19 พันล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 4.40 พันล้านยูโร

อีกทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในระยะนี้ หนุนการเคลื่อนไหวของเงินยูโรเพิ่มเติม โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2150-1.2218 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2216/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/5) ที่ระดับ 109.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวกรอบแคบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/5) ที่ระดับ 109.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ภายหลังเปิดตลาดค่าเงินเยนทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น (GDP) ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ระดับ -0.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -0.01% อีกทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมขั้นตติยะภูมิของญี่ปุ่นที่ระดับ 1.1% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนมากนัก

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ภายหลังรัฐบาลของนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุให้สร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยมีเทศบาลท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการฉีดวัคซีน

โดยในขณะนี้ญี่ปุ่นมีประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพียง 3% ของประชากรทั้งหมด 126 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.85-109.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของอังกฤษ (19/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของยุโรป (19/5), ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/5), ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เม.ย. ของเยอรมนี (20/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/5),

รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 27-28 เม.ย. (20/5), ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย.ของอังกฤษ (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของยุโรป (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ (21/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.55/0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 5.2/6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ