10 ปี นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 9 แสนล้าน

AGE เตรียมขายหุ้นกู้ 800 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.50% 23-25 พ.ย.นี้

10 ปี (นับตั้งแต่ปี 54-64) นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปกว่า 9 แสนล้านบาท ล่าสุดขายสุทธิ ไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท จากต้นปีนี้ “ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เผยคำตอบเมื่อไหร่ต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทย

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัววานนี้ (18 พ.ค. 64) ว่า คนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนจะทราบดีว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยมาโดยตลอด ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 จะพบว่าต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้วกว่า 900,000 ล้านบาท และขายต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นในปี 2555 และปี 2559

แม้กระทั่งในปีนี้ ที่หลายคนคาดว่าน่าจะได้เห็นการกลับมาของเม็ดเงินต่างชาติ จากเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจำนวนมาก ซี่งหุ้นเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการเริ่มเปิดประเทศทั่วโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ต่างชาติก็ยังขายหุ้นไทยสุทธิออกไปอีกกว่า 50,000 ล้านบาท นับจากต้นปี

แน่นอน การดูแค่มูลค่าซื้อขายสุทธิไม่อาจบอกได้ถึงสถานะที่แท้จริงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซื้อขายแบบเก็งกำไรรายวันโดยใช้โปรแกรม Algorithmic Trading คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของธุรกรรมของต่างชาติ แปลง่าย ๆ ว่า ตัวเลขขายสุทธิส่วนใหญ่อาจเกิดจากการซื้อขายของกองทุนเหล่านี้

ข้อมูลที่สะท้อนสถานะของนักลงทุนต่างชาติได้ดีกว่าคือ “มูลค่าหุ้นที่ถือครองโดยต่างชาติ” ล่าสุด ตัวเลขนี้อยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท ซึ่งแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากยอด 4.66 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2556 (ที่เทียบกับปี 2556 เพราะ SET Index ในปีนั้นอยู่ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน) แสดงว่าต่างชาติไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

จึงไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติ หรือ Foreign Ownership ลดลงมาโดยตลอด จากระดับสูงสุดในปี 2555 ที่ 36.8% ของมูลค่ารวมตลาดหุ้นไทย เหลือเพียง 26.7% ในปัจจุบัน

หลายคนคงอยากทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย

ผมมองว่าสาเหตุหลักเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ

1. ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในระดับมหภาค ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ และปัญหาโครงสร้างประชากรที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลงเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

2. ตลาดหุ้นไทยขาดหุ้น New Economy เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้น Unicorn ถึงแม้เรามีหุ้นใหม่เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภท Old Economy ที่ต่างชาติไม่ค่อยสนใจ ซึ่งสะท้อนได้จากระดับการถือครองหุ้น IPO โดยนักลงทุนต่างชาติ เฉลี่ยเพียง 7% ในระยะ 10 ปีท่ผ่านมา

3. น้ำหนักตลาดหุ้นไทยใน Benchmark ที่นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการลงทน ถูกปรับลดลงมาโดยตลอด เช่น MSCI AC Asia ex. Japan Index น้ำหนักหุ้นไทยลดลงจาก 7-8% เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหลือ 2-3% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และ 1.8% ในปัจจุบัน ทำให้กองทุนส่วนใหญ่ต้องลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตาม

มองไปข้างหน้า โอกาสที่จะเห็น Foreign Ownership กลับไปสู่ระดับ 35-40% เหมือนในอดีตยังไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไข

แต่ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเริ่มเห็นเม็ดเงินต่างชาติประเภท Tactical Trading (ลงทุนระยะสั้น) กลับมาซื้อหุ้นไทยในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยการเร่งฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว เป็นจุดขายหลัก บวกกับระดับ SET Index ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ในขณะที่หลายตลาดหุ้นได้พ้นจุดนั้นไปแล้ว

อีกหนึ่งตัวช่วยคือกระแสเงินโลกที่คาดว่าจะไหลกลับเข้า Emerging Markets ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก

การจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเนื้อหอมอีกครั้งในสายตานักลงทุนสถาบันระยะยาวระดับโลก รัฐบาลจะต้องเริ่มแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างกลไกขับเคลื่อนชุดใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งปฎิรูปการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากวงจรความขัดแย้งเดิม ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์เองก็ต้องเร่งหากิจการขนาดใหญ่ประเภท New Economy มาจดทะเบียน ควบคู่กับการหากลยุทธ์เพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในดัชนีอ้างอิงต่าง ๆ เช่น หาแนวทางเพิ่ม Free Float ของหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนีอ้างอิงก็อาจเป็นวิธีหนึ่ง เนื่องจากดัชนีอ้างอิงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักเฉพาะกับ Market Cap ในส่วนที่เป็น Free Float