ดอลลาร์ทรงตัว ตลาดจับตารายงานการประชุมเฟด หลังเงินเฟ้อเร่งตัว

ดอลลาร์ทรงตัว ขณะที่ตลาดจับตารายงานการประชุมเฟด หลังเงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัว กระทรวงการคลังคาดเงินกู้ก้อนใหม่ 7 แสนล้าน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโตเพิ่ม1.5% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/5) ที่ระดับ 31.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/5) ที่ระดับ 31.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อวานนี้ นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ สาขาแอดแลนตา กล่าวว่า เขามีความพอใจต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในขณะนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้นก็ตาม ซึ่งจากความเห็นของนายราฟาเอล ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังถูกกดดัน หลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 9.5% ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 1.569 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.710 ล้านยูนิต

ทั้งนี้นักลงทุนส่วนใหญ่จับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งล่าสุดประจำวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันพุธ (19/5) ตามเวลาสหรัฐหรือในวันพฤหัสบดี (20/5) ตามเวลาไทย

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้นยังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในการพิจารณาให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม ภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอนี้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดไว้อีกประมาณ 1.5%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.38-31.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/5) ที่ระดับ 1.2224/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/5) ที่ระดับ 1.2216/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และอานิสงส์จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศ

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนหลังมีการเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของยูโรโซน (GDP) ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ระดับ -1.8% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 1.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.4% และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมอยู่ที่ 0.7%

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2205-1.2245 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2213/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/5) ที่ระดับ 109.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/5) ที่ระดับ 108.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ในกรอบ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิดนั้น ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศห้ามผู้ที่มาจากบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และศรีลังกา เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย

โดยผู้ที่เคยเดินทางไปยัง 3 ประเทศดังกล่าวในช่วงเวลา 14 วัน ก่อนที่จะเดินทางมายังญี่ปุ่น จะไม่สามารถเข้าประเทศได้

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในประเทศ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 1.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.84-109.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.13/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/5), ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เม.ย. ของเยอรมนี (20/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/5), รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 27-28 เม.ย. (20/5), ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. ของอังกฤษ (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของยุโรป (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ (21/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.55/0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 3.8/4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ