กสิกรไทย ชี้ภาคธุรกิจแห่ถอน FCD ทำบาทแข็ง 29.75 บาท/ดอลลาร์

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ

กสิกรไทย ชี้จับตาภาคธุรกิจดึงสภาพคล่องในบัญชีเงินฝาก FCD ขายแลกเงินบาท หลังยอดเงินฝากลดลงจาก 1.8-1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำเงินบาทอ่อนค่าจำกัด คาดเดือน มิ.ย. เคลื่อนไหว 31.10 บาท/ดอลลาร์ ก่อนทยอยแข็งค่าสิ้นปีอยู่ที่ 29.75-29.80 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ จะเห็นว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปี จะมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าปกติจากเงินไหลออก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลการจ่ายปันผลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เป็นของต่างชาติ

โดยข้อมูลในสัปดาห์นี้จะมีการจ่ายเงินปันผลอีกราว 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท และสัปดาห์หน้าอีกราว 6,500 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงนี้เงินบาทจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องจับตามองที่ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทมีจำกัด คือ สัญญาณที่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขาดสภาพคล่อง และทยอยเริ่มนำทุนเงินตราต่างประเทศที่ฝากไว้ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD ทยอยนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

โดยส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ ทำให้เกิดขายเงินดอลลาร์เพื่อแลกเป็นเงินบาท สะท้อนได้จากยอดเงินฝากในบัญชี FCD ลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 1.8-1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันในเดือน มี.ค. ปรับลดลงมาเหลือ 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะลดลงไปอยู่ระดับใด

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับ 12% ของจีดีพี หายไปปัจจุบันเหลือ 0% เพราะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้ามาได้ จากเดิมดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเคยเกินดุลในระดับสูง จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการมาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่า ทั้งการสนับสนุนการนำรายได้เงินตราต่างประเทศสามารถฝากในบัญชี FCD หรือการสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือราว 4,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมเคยสูงในระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์

ดังนั้น จากภาพรวมดังกล่าว ธนาคารประเมินว่า ค่าเงินบาทในเดือนมิ.ย.นี้จะยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยการจ่ายเงินปันผลโดยอยู่ที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ และจากแนวโน้มการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีความต้องการสินค้ามากขึ้น จะเห็นเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่า โดยเคลื่อนไหวแข็งค่าอยู่ในกรอบ 29.75-29.80 บาทต่อดอลลาร์

“แม้ว่าค่าเงินได้สะท้อนข่าวร้ายไปแล้วจากการหายไปของรายได้จาภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไม่ได้เลย ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในประเทศก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลน้อยลง จากเกินดุลระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีลดลงเหลือประมาณหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้น ค่าเงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าลงมากไปมากกว่านี้”

สำหรับประเด็นหลักที่จะมีผลต่อตลาดเงินที่ต้องติดตามในระยะนี้ คือ มุมมองเฟดในเรื่องทิศทางเงินเฟ้อว่าจะมาเพิ่มขึ้นชั่วคราวหรือสูงต่อเนื่อง เพราะเป็นสัญญาณการปรับการดำเนินนโยบายการเงินหากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นชัดขึ้น หลังการมาของวัคซีน ซึ่งตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกเริ่มชะลอลง แม้คนจะเริ่มกังวลว่าโควิด-19 อาจอยู่กับเราไปนานขึ้นจากการกลายพันธุ์

รวมถึงติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ที่เริ่มปรับดีขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าของฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ โดยค่าเฉลี่ยของโลกการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 4.56% ของจำนวนประชากร แต่สำหรับประเทศไทยยังมีภูมิคุ้มกันหมู่ค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรอยู่ที่ 1.12% ของจำนวนประชากร