ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้เฟดเริ่มพิจารณาลดวงเงิน QE

เงิน เงิน ธนบัตร

ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้เฟดเริ่มพิจารณาปรับลดวงเงิน QE หลังเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/5) ที่ระดับ 31.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ(19/5) ที่ระดับ 31.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นg,njvเทียบเงินสกุลหลัก สอดคล้องกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.7% หลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และเสนอให้เริ่มอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในสหรัฐได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น

สำหรับค่าเงินบาทได้รับปัจจัยบวกหลังรัฐบาลประกาศว่าเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาทเพื่อใช้แก้ไขวิกฤตไวรัสโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ช่วยจำกัด Downside เศรษฐกิจ กรณีที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการ GDP ปีนี้ หากมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุน

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.36-31.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (20/5) ที่ระดับ 1.2174/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/5) ที่ระดับ 1.2161/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังบรรดานักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังอังกฤษเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในเดือนเมษายน หลังจากค่าไฟและก๊าซ รวมถึงราคาเสื้อผ้าและรองเท้าปรับตัวขึ้น

บรรดาผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางคาดว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงชั่วคราว แต่นักลงทุนวิตกว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอาจจะเป็นไปในระยะยาว ซึ่งจะกดดันให้ธนาคารกลางเร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยในวันอังคาร (19/5) ว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะยังไม่ถอนการสนับสนุนด้านการเงินและการคลังเร็วเกินไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ของยูโรโซนดีดตัวขึ้น 1.6% ในเดือนเมษายน จากระดับ 1.3% ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ดัชนี CPI ของยูโรโซนได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานและราคาในภาคบริการ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2167-1.2205 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2188/92

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/5) ที่ระดับ 109.14/16 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/5) ที่ระดับ 18.72/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนยังได้รับแรงกดดันหลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศเตือนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น เนื่องจากแผนระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน

ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2564 หดตัวมากกว่าที่คาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายคุโรดะย้ำว่า BOJ จะพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการพิเศษของ BOJ เพื่อสนับสนุนการระดมเงินทุนให้กับภาคเอกชนต่อไป จากเดิมที่จะหมดในเดือน ก.ย. 2564 โดยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ BOJ มีการใช้นโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.85-109.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหราชอาณาจักร (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของยุโรป (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ (21/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.50/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.50/+7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ