โควิดสะเทือนแบงก์บุกต่างประเทศ “กสิกร” หวั่นเปิดสาขาโฮจิมินห์สะดุด

3 แบงก์ใหญ่อัพเดตแผนขยายธุรกิจการเงินในต่างประเทศช่วงโควิดระบาด เผยเพื่อนบ้านประกาศล็อกดาวน์สะเทือนธุรกิจชะลอ “กสิกรไทย” หวั่นแผนเปิดสาขาโฮจิมินห์ล่าช้า กระทบปล่อยสินเชื่อ “แบงก์กรุงเทพ” เพิ่มระมัดระวังปล่อยกู้ เผยพอร์ตต่างประเทศกว่า 24% จาก 300 สาขา “กรุงศรีอยุธยา” เร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ากัมพูชา พร้อมปรับกลยุทธ์เพิ่มโปรดักต์สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของแบงก์ เพราะทำให้เกิดความล่าช้า โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารราชการ เช่น การจดจำนอง เป็นต้น หรือการพบปะลูกค้าก็ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากบางประเทศมีการประกาศล็อกดาวน์ เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวไปด้วย

เช่นเดียวกับในเวียดนาม หลังจากธนาคารได้รับอนุมัติใบอนุญาตจากธนาคารกลางเวียดนามให้จัดตั้งสาขาต่างประเทศเต็มรูปแบบในนครโฮจิมินห์ โดยการก่อสร้างอาคารสำนักงานคาดว่าจะเสร็จตามกำหนด เพราะใช้ผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่อาจมีความล่าช้าในเรื่องของการติดตั้งระบบงานต่าง ๆ เนื่องจากจะต้องส่งทีมงานเข้าไปดำเนินการ ทำให้สะดุดเล็กน้อย แต่ก็คาดว่าจะทันตามแผนในไตรมาส 3 นี้ หรืออาจล่าช้าไม่มาก

“แผนบางส่วนดีเลย์ไปบ้าง เช่น สปป.ลาวมีล็อกดาวน์ตั้งแต่ 22 เม.ย. ถึงปลายเดือน พ.ค. 2564 รวมถึงกัมพูชา ทำให้กระทบแผนติดต่อหน่วยงานราชการยากขึ้น แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะเขาเร่งฉีดวัคซีนไปแล้ว 70% ส่วนที่อินโดนีเซีย และจีน ยังเติบโตได้ดีพอสมควร และพอร์ตลูกค้าต่างประเทศยังแข็งแรง”

นายภัทรพงศ์กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจและปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศยังสามารถทำได้ โดยไม่ได้มีการปิดสาขา เพียงแต่มีการปรับลดพนักงานที่ปฏิบัติงานให้เหลือต่ำกว่า 10% โดยสินเชื่อน่าจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่ารายได้ต่างประเทศน่าจะได้ตามเป้าหมายในสิ้นปีอยู่ที่ 2% ของรายได้รวมของธนาคาร จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 0.9%

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แบงก์มีนโยบายระมัดระวังการทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยไม่ได้ตั้งเป้าธุรกิจต่างประเทศปีนี้ว่าต้องขยายตัวหวือหวา แต่จะตั้งเป้าให้สอดคล้องกับอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของแต่ละประเทศ รวมถึงพิจารณาอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ หรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ภาคบริการ เป็นต้น แม้ว่าจะส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 แต่ยังคงต้องระมัดระวัง

นอกจากนี้ ธนาคารได้ดำเนินนโยบายการช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางการกำกับดูแลของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีมาตรการคล้ายประเทศไทย เช่น การพักชำระหนี้ ให้กับลูกค้ากลุ่มรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นต้น

โดยปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีสาขาธนาคารต่างประเทศ (รวมบริษัทลูก) กว่า 300 สาขา มีสินเชื่อในต่างประเทศคิดเป็น 24% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร เฉพาะในกลุ่มประเทศ AEC ที่มีอยู่ 9 ประเทศ สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อราวกว่า 15% ของพอร์ตธนาคารทั้งหมด

“ปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ธุรกิจในต่างประเทศค่อนข้างทรงตัว ส่วนจะดีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละประเทศ แต่เท่าที่ดูในกลุ่ม AEC สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับเรามีความเข้าใจในสถานการณ์มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่สะดุด” นายไชยฤทธิ์กล่าว

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แบงก์ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่อง แม้ว่าบางประเทศประกาศล็อกดาวน์ อาทิ ในกัมพูชา เป็นต้น แต่ Hattha Bank ก็ยังปล่อยสินเชื่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรม เกสต์เฮาส์ ผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้สามารถชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ดี ในปีนี้กรุงศรีฯเน้นปรับกลยุทธ์ส่วนผสมผลิตภัณฑ์ (product mix) เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน และบัญชีเงินรับฝากเพื่อธุรกรรมด้านปฏิบัติการ เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม สร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุน รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจรายย่อย รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและกลางในกัมพูชา ด้วยการใช้กลยุทธ์ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่ธุรกิจใน สปป.ลาว ภายใต้บริษัท กรุงศรีบริการเช่าสินเชื่อ จำกัด ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายและขยายเครือข่ายตัวแทน ควบคู่ไปกับการขยายผลิตภัณฑ์และบริการ โดยการนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากกรุงศรี ออโต้ และกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินในธุรกิจลีสซิ่ง ทำให้บริษัทเป็นผู้นำตลาดใน สปป.ลาว

“ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจในต่างประเทศยังคงดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่วางไว้ด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่สู่ตลาดฟิลิปปินส์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล” นายไพโรจน์กล่าว