“กรุงไทย” หนุนรัฐกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน หวังชดเชยความเสียหายจากโควิดระลอก 3

กรุงไทยหนุนรัฐกู้เงิน

“กรุงไทย” หนุนรัฐกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท มั่นใจไม่ทำตลาดเงินตึงตัว หวังช่วยชดเชยความเสียหายจากโควิดระลอกสามที่คาดสร้างความเสียหาย 4-5.8 แสนล้านบาท ประเมินจีดีพีปีนี้โตไม่เกิน 1.6%

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ถือว่ามีความจำเป็น โดย Krungthai COMPASS คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 อาจสูงถึง 4.0-5.8 แสนล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ก็เหลือน้อยกว่าครึ่งของมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการขอรับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม

“Krungthai COMPASS มองว่าการเตรียมพร้อมของรัฐบาลโดยการออก พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาทในช่วงนี้ มีความจำเป็น เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไม่ติดขัด ทั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ประกอบการอีกด้วย ทั้งนี้ การระดมเงินด้วยจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการตึงตัวในตลาดการเงิน เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบปัจจุบันมีค่อนข้างมาก เห็นได้จากปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นถึงราว 6 แสนล้านบาทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา” นางสาวพิมฉัตรกล่าว

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.8%-1.6% ต่อปี โดยการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ หลังเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องคงระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรคยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ในประเทศ ค่อนข้างมาก

“การระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือน เม.ย. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน โดยสถานการณ์การระบาดในประเทศจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษได้แพร่กระจายไปยังหลายคลัสเตอร์ทั่วประเทศ จนเป็นการยากที่จะควบคุมให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน

ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค.) และกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ทำให้จำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นางสาวพิมฉัตรกล่าว