สคร.เข็นผลงานรัฐวิสาหกิจ ขึงเป้า ‘รายได้-เบิกจ่ายลงทุน’ สั่งฟื้นฟู อสมท

เงินบาท

สคร.เข็นรัฐวิสาหกิจ “ส่งรายได้-เบิกงบฯลงทุน” กัดฟันยึดตามเป้าหมายเดิม ยอมรับโควิดฉุดผลประกอบการรัฐวิสาหกิจวูบ เผยขุนคลังเกาะติดเบิกจ่ายลงทุนนัดประชุมทุกไตรมาส ล่าสุดเบิกเกินเป้าทะลุ 100% ทำได้เร็วกว่าแผนแม้เผชิญโควิดระบาดระลอกใหม่

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 ภารกิจหลักของ สคร.ทั้งการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจเข้ารัฐ ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุน และโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) รวมทั้งการดูแลรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายมากที่สุด

โดยปีนี้รายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจมีเป้าหมายอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่ามีรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำกว่าแผน เนื่องจากเงินที่นำส่งในปีนี้เป็นผลกำไรจากปี 2563 ซึ่งปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งกำไรลดลง โดยช่วงครึ่งปีงบประมาณ ภาพรวมรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าไป 42.3% หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากมีการรับรองงบการเงินช้า

ขณะที่การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2564 มีกรอบวงเงินทั้งหมด 3.25 แสนล้านบาท ล่าสุดเบิกจ่ายไปแล้ว 1.11 แสนล้านบาท เกินเป้าถึง 103% แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีส่วนกระทบการเบิกจ่ายงบฯลงทุน แต่การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจยังเร็วกว่าแผน และคาดว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายได้ ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ก็ได้มีการประชุมเพื่อติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายทุก 3 เดือน และ สคร.ก็ติดตามเป็นรายเดือนด้วย

“รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่เบิกจ่ายล่าช้า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโครงการเดิม ๆ เช่น รถไฟ ประปา เป็นต้น โดย สคร.ได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายล่าช้ารายงานความคืบหน้าการดำเนินงานทุกสิ้นเดือน ว่าผลการเบิกจ่ายเป็นอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรคส่วนใดหรือไม่ ซึ่งช่วงโควิดมีรัฐวิสาหกิจมีปัญหา เช่น การตรวจรับงานล่าช้า เนื่องจากบางแห่งต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ และปัญหาที่ติดอยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง กรณีการเกิดอุทธรณ์ เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจก็จะต้องไปเร่งแก้ไขปัญหา”

นางปานทิพย์กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูธุรกิจ เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก็มีการกำกับและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่มีนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธาน ซึ่งมีการติดตามหารือกันอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณี บมจ.อสมทนั้น ในการประชุม คนร.ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้เห็นชอบให้ อสมท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดย คนร.ได้ให้สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงเจ้าสังกัดไปจัดทำแผนฟื้นฟูมาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมีเวลา 30 วัน เพื่อหารือในที่ประชุม คนร.ต่อไป

“ตอนนี้ อสมท ยังไม่ได้ส่งแผนมา เนื่องจากเพิ่งมีการตั้งคณะทำงาน อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการประชุม คนร.จะต้องหารือเรื่องแผนการฟื้นฟู อสมท ในคณะอนุกรรมการนโยบายก่อน โดยคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะได้รายงานความคืบหน้าให้ คนร.รับทราบต่อไป”

นางปานทิพย์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโครงการ PPP ตามแผนระหว่างปี 2563-2567 นั้น ภายในปีงบประมาณ 2564 จะมีออกมาอีก 3-4 โครงการ ซึ่งขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างการเร่งรัด ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม เช่น รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ เป็นต้น