ประเมินสถานการณ์ธุรกิจ หลังโควิด SMEs ยังไหวไหม ? (1)

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ สมาร์ทเอสเอ็มอี
ttb analytics

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้เริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่กว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาดำเนินได้ตามปกติในทุกภาคส่วน คงจะต้องรอการกระจายวัคซีนให้ได้มากขึ้น และชะลอการแพร่ระบาดให้ทุเลาลงซึ่งอาจใช้เวลานานนับเดือน

สำหรับกรณีของประเทศไทย ซึ่งรากฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีสัดส่วนจำนวนกิจการมากกว่า 98% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ และมีการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ย่อมตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากความเปราะบางทางการเงินของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในปี 2563 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิดระลอกใหม่ในปีนี้ เรายังพบธุรกิจบางส่วนที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จากการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป ภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของรัฐที่ผ่อนคลายลงตามความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจแล้ว พบว่าสินค้าที่จำเป็นต่อผู้บริโภคหรือจำเป็นต่อธุรกิจด้วยกัน จะมีแนวโน้มด้านรายได้ที่ดีกว่ากลุ่มที่เป็นสินค้าและบริการที่หดหายจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ซึ่งจากการวิเคราะห์แนวโน้มรายได้ของธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้นั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี พบว่าธุรกิจ SMEs ด้านฟาร์มปศุสัตว์ อาหาร สินค้าอุปโภค ผลิตภัณฑ์ยางพารา ธุรกิจไอที และการสื่อสาร ยังคงสถานะธุรกิจที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าปีก่อน (recovery index อยู่ระหว่าง 96.7-106.9 โดยฐานปี 2563 = 100)

และหากวิเคราะห์ไปถึงสุขภาพทางการเงินของธุรกิจในกลุ่มนี้ ยังพบระดับสัดส่วนของหนี้ที่มีความเสี่ยง หรือ NPL (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) ของธุรกิจในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าธุรกิจในกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว

บ่งชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะได้รับผลกระทบด้านรายได้อยู่บ้าง แต่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังสามารถประคับประคองสุขภาพทางการเงินให้ผ่านช่วงนี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรม สินค้าแฟชั่น การขนส่งบุคคลสาธารณะ หรือธุรกิจภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ ร้านนวดหรือสปา เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มรายได้ที่อาจชะลอ และยังต้องรอปัจจัยบวกด้านการคลายล็อกมาตรการควบคุมการระบาด

รวมถึงการกระจายฉีดวัคซีน ที่จะช่วยให้ผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากขึ้น