คลังชวนคนชรารวยบริจาคเบี้ยยังชีพให้คนชรายากจน เริ่ม 1 ธ.ค. คาดได้เงินปีละ 4,000 ล้าน

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน รับทราบแนวทางการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านราย คาดว่าผู้สูงอายุรับเบี้ยคนชรามีความสามารถบริจาค 5 ล้านราย จะบริจาคเข้ามาจำนวน 10% หรือ 5 แสนราย เป็นเงิน 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินตรงนี้ไปรวมกับเงินจากภาษีบาป 2% เป็นเงิน 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่…) พ.ศ…. กำหนดให้นำเงินจากภาษีบาป 2% เข้ากองทุนผู้สูงอายุคาดว่าจะมีผลต้นปีหน้า

“เงินใน 2 ส่วนนี้จะมาเพิ่มให้คนชรที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าจะเพิ่มให้ได้คนละ 200 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นเงินจากการบริจาค คาดว่าจะได้ 100 บาท และเงินจากภาษีบาป 100 บาท แต่ต้องรอดูว่าจะมีการบริจาคเข้ามาเท่าใด โดยการบริจาคเริ่มวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ส่วนการเพิ่มเงินคนชราที่จนน่าจะเริ่มต้นปีหน้า” นายสุวิชญกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์ในการบริจาคเบี้ยยังชีพ สามารถบริจาคหน่วยรับแจ้งการบริจาค ถ้าผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ ส่วนผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัยในต่างจังหวัด สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัย กทม. สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต) ซึ่งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา จะส่งเงินบริจาคให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุต่อไป และสำหรับกรุงเทพมหานครจะส่งเงินบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุโดยตรง

นายสุวิชญ กล่าวต่อว่า การแจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการบริจาคเงินเบี้ยยังชีพทั้งจำนวนตามสิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของผู้บริจาคแต่ละคนตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ได้แจ้งความประสงค์ไป จนกว่าจะแจ้งยกเลิกการบริจาค ซึ่งเงินบริจาคจะนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือฯ เข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป

สำหรับผู้บริจาคจะได้เหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นการตอบแทนการเสียสละเงินเบี้ยยังชีพที่จะนำไปให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์