ส่องเงินบาท Q3 อ่อนค่า ? “ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย-ฉีดวัคซีนช้า” กดดัน

เงินบาท-หุ้นไทย

ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน (ณ 25พ.ค. 2564) เงินบาท “อ่อนค่า” ไปถึง 4.45% เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ที่อ่อนค่าถึง 5.05%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยว่า จากค่าเงินบาทระดับ 31.38-31.50 บาทต่อดอลลาร์ ในปัจจุบัน จึงคาดว่าเงินบาทน่าจะทรงตัวแถว 31.50 บาท ในไตรมาสที่ 3

โดยขณะนี้ถึงแม้การส่งออกดีขึ้น ดุลการค้าเป็นบวก แต่พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เพราะเซ็กเตอร์บริการติดลบค่อนข้างสูง รายได้ที่จะมาจากต่างประเทศก็ลดลง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เคยเกินดุลมาตลอดยาวนาน เริ่มขาดดุล บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“จากพื้นฐานดูแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะทำให้บาทแข็ง และหากดูฟันด์โฟลว์ต่างชาติก็ออกจากหุ้นค่อนข้างต่อเนื่อง แต่มีสลับมาซื้อตราสารหนี้ (บอนด์) บ้าง แต่รวมแล้วก็ไหลออกสุทธิ ดังนั้น ผมว่าเงินบาทในไตรมาส 3 น่าจะอยู่แถว 31.50 บาท หรืออ่อนค่ากว่านี้ เพราะยังไม่เห็นตัวแปรที่จะทำให้กลับมาแข็งค่า”

ฉีดวัคซีนช้ากดดัน “บาทอ่อน”

นายนริศมองว่า ปัจจัยวัคซีนมีส่วนอย่างมากต่อการอ่อนค่าของเงินบาท โดยหากยังฉีดได้แค่วันละ 1.5 แสนโดส จนถึงสิ้นปี เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้แค่ 2.2% ซึ่งถือว่าต่ำ ในจังหวะที่ประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวเร็วกว่า จึงอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 32 บาทได้

จับตาเฟดส่งสัญญาณลด QE

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า อาจจะเริ่มเห็นทิศทางแข็งค่าขึ้นได้ในไตรมาส 3 แต่การแข็งค่ายังมีข้อจำกัด

โดยคาดว่าสิ้นไตรมาส 3 เงินบาทจะอยู่ที่ 30.75 บาท ซึ่งปัจจัยชี้นำหลักจะมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณเปลี่ยนนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ลง

เตือนเงินร้อนเก็งกำไรค่าเงิน

นางสาวรุ่งกล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยภายในประเทศของไทย จะเป็นเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ฉุดรั้งความเชื่อมั่น รวมถึงการจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวกลับมาได้เมื่อใด ส่งผลให้แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า

แต่การแข็งค่าของเงินบาทยังจำกัด เพราะมีปัจจัยภายในเฉพาะ ซึ่งนักลงทุนอาจจะกลับเข้ามาลงทุนบ้าง เป็นการลงทุนระยะสั้นแบบ hot money เข้าและออกเร็ว สร้างความผันผวน โดยเก็งว่าเงินบาทจะแข็งค่า ซึ่งไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน

สำหรับกระแสฟันด์โฟลว์ตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ 21 พ.ค. 2564 พบว่า นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นสุทธิ 60,451 ล้านบาทแต่เข้าซื้อบอนด์สุทธิ 24,395 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากระแสเงินทุนหลังจากนี้

หากไทยมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องของการเปิดเมือง จะทำให้ต่างชาติชะลอขาย และน่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าบ้าง

“ตลาดอื่นมีเงินไหลเข้าเยอะ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ แต่ไทยพึ่งพาภาคบริการค่อนข้างเยอะ และโควิดระลอก 3 ทำให้นักลงทุนเทขาย แต่ไตรมาส 4 น่าจะเห็นความชัดเจนของนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาจากการเปิดประเทศในปี 2565 ทำให้โฟลว์ที่ไหลออกจะชะลอลง

และมีเงินเข้ามาลงทุนบ้าง ดังนั้น ดูภาพรวมแล้วเงินบาทจะแข็ง แต่ยังมีข้อจำกัด และต้องดูว่าเฟดจะไปทางไหน ถ้าถอนมาตรการซัพพอร์ตเศรษฐกิจเยอะ ตลาดจะกังวล แต่ถ้าไม่ถอนภายใต้เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อมา ทำให้ผลตอบแทนสกุลดอลลาร์ด้อยค่าลง เงินดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าลง”

สิ้นปีเทรนด์บาทพลิก “แข็งค่า”

ด้าน นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า กสิกรไทยไม่ได้ประเมินเงินบาทช่วงไตรมาส 3 เป็นการเฉพาะ

แต่มองตลอดครึ่งปีหลังที่เงินบาทมีทิศทางที่จะทยอย “แข็งค่า” ขึ้นมากกว่า ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยหากเงินบาทจะอ่อนค่าก็น่าจะแค่ชั่วคราว

ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 29.75 บาท จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31-31.25 บาท อย่างไรก็ดี หากเฟดเปลี่ยนนโยบายมาลดขนาด QE ลง ก็อาจจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและเงินบาทกับค่าเงินในเอเชียก็จะมีเทรนด์อ่อนค่าได้

“ทิศทางค่าเงินหลัก ๆ ยังมาจากปัจจัยโลกอยู่ การระบาดของโควิดในประเทศเป็นเพียงจังหวะหนึ่งที่ทำให้บาทอ่อน แต่พอเราเริ่มชินกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสูงตลาดก็จะไม่ค่อยสนใจปัจจัยนี้ อีกอย่างทั้งเอเชียก็มีการระบาดมากเหมือนกัน ขณะที่ฝั่งตะวันตกสถานการณ์ดูดีขึ้น

แต่กลายเป็นว่าค่าเงินฝั่งเอเชียยังแข็งค่าดังนั้นในภาพรวม ตลาดยังให้น้ำหนักกับภาพใหญ่ทั้งโลกที่โควิดเริ่มดีขึ้น ดังนั้น เงินบาทก็คงไม่อ่อน แต่น่าจะแข็งไปตามค่าเงินเอเชีย”

ลุ้นครึ่งปีหลังโฟลว์เข้าหุ้นไทย

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ระยะสั้นประเมินว่าฟันด์โฟลว์จะยังไหลเข้าตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐมากกว่า

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชีย ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวจนทำให้เฟดเริ่มชะลอ QE ฟันด์โฟลว์จะไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย

“ตลาดหุ้นไทยยังเป็นภาพฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่คงชะลอลง โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะมีสัญญาณพลิกกลับมาไหลเข้าบ้าง เพราะความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดี

ซึ่งแนวโน้มหุ้นในกลุ่ม SET50 และ SET100 จะได้รับอานิสงส์จากแรงซื้อของต่างชาติ หนีไม่พ้นหุ้นแบงก์ พลังงาน และค้าปลีก”

ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ทิศทางค่าเงินบาทในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเท่าที่ดูปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการระบาดของโควิดที่ยังรุนแรง และการฉีดวัคซีนที่ยังล่าช้า มีผลไม่น้อยเลยทีเดียว