ตราสารหนี้ (อนุ) รักษ์แรด… กระแส ESG Bond ที่มาแรงต่อเนื่อง

คอลัมน์ สถานีลงทุน
สุธาสินี เฉียงขวา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 

ช่วงนี้นอกจากกระแสคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว อีกกระแสที่นักลงทุนมักจะพูดถึงก็คือการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG investing) คงอยากจะต้องการบาลานซ์พอร์ตการลงทุน หรืออาจจะคนละกลุ่มนักลงทุนก็เป็นได้

ในฝั่งของตราสารหนี้ กระแสการออก ESG bond ก็มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งของโลกและของไทยในโครงการต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน ทั้งบอนด์รักษ์ป่า บอนด์รักษ์อากาศ บอนด์รักษ์น้ำ และล่าสุด บอนด์รักษ์สัตว์ จำพวกแรด ใช่ค่ะ อ่านไม่ผิด แรดที่มีนอน่ะค่ะ !

Rhino Impact Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด เป็นตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินทุนไปใช้ในโครงการ เพิ่มจำนวนประชากรแรดที่ลดลงอย่างมากจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ปัจจุบันทั่วโลกมีแรดทั้งหมด 5 สายพันธุ์ เหลือเพียง 29,000 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยมากกว่า 80% เป็นสายพันธุ์แรดขาว ขณะที่สายพันธุ์แรดดำจากที่เคยมีมากถึง 65,000 ตัวในปี 1970 ปัจจุบันเหลือเพียง 5,500 ตัวเท่านั้น

การลดลงของจำนวนแรดมีสาเหตุหลักจากการล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อเอานอไปบริโภคและทำเครื่องราง หน่วยงานดูแลสัตว์ป่าต้องใช้เงินจำนวนมากในการป้องกันการล่าอย่างผิดกฎหมายและอนุรักษ์แรดไม่ให้สูญพันธุ์ โดยเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ มาจากการบริจาคที่มีจำนวนไม่แน่นอน รายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่แน่นอน แถมปีที่แล้วก็ยังลดลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องหาเงินเพิ่ม ! จึงเป็นที่มาของการออกตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด

ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรด จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างทาง แถมนักลงทุนยังมีโอกาสจะสูญเงินต้นบางส่วน ถ้าเมื่อครบกำหนดอายุตราสารแล้วจำนวนแรดกลับลดลง ผู้ลงทุนจะเสมือนถูกเปลี่ยนสถานะเป็นผู้บริจาคแทน

แต่ถ้าประชากรแรดมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จะคงสถานะเป็นผู้ลงทุนไว้ตามเดิม โดยจะได้รับผลตอบแทนพร้อมเงินต้นคืน แต่ถ้าจำนวนแรดเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงเป็นพิเศษ พูดง่าย ๆ ตราสารหนี้รักษ์แรดนี้จ่ายผลตอบแทนตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (outcome payments) ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องเผื่อใจยอมรับที่จะเป็นผู้บริจาคแทนการเป็นผู้ลงทุน

ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรดเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ฉบับแรกของโลก ที่จะออกโดย International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) ในนามของ Rhino Impact Investment ซึ่งก่อตั้งโดยสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London) ที่คาดว่าจะออกในช่วงกลางปี 2564 นี้ มูลค่า 670 แรนด์แอฟริกาใต้ หรือราว 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุ 5 ปี

เงินทุนที่ได้จะนำไปใช้เพิ่มจำนวนแรดดำที่อาศัยอยู่ใน 2 อุทยานแห่งชาติที่แอฟริกาใต้ โดยมีเป้าหมายว่าประชากรแรดดำจะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 4% ในช่วง 5 ปีนี้

เมื่อครบ 5 ปี และแรดดำมีจำนวนเพิ่มขึ้น กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) จะเป็นผู้จ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน กองทุนนี้ก่อตั้งตามอนุสัญญาจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 1992 ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล มีสมาชิก 40 ประเทศร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

ที่ผ่านมามีตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนอย่าง green bond, social bond และ sustainability bond ที่ระดมเงินทุนไปใช้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ แหล่งน้ำ รวมถึงช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ วันนี้กำลังจะมีตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรดที่จะช่วยระดมเงินทุน ลดการพึ่งพาเงินบริจาคที่มีความไม่แน่นอน และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเป็นปกติ ที่สำคัญ ! ช่วย #save แรด แถมผลพลอยได้คือ สัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ถูกล่าและมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ ก็ได้รับการดูแลด้วย

ดูเหมือนตราสารหนี้กำลังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการเชื่อมโยงตลาดทุนกับสังคมสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาควบคู่ไปพร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืนน่ะค่ะ